สารระเหย กัญชา คาธิโนน กระท่อม

เมื่อ : 2019-10-02 14:01:49 อ่านแล้ว: 16097 ครั้ง
ชื่อไฟล์ที่สามารถดาวโหลดได้ (คลิกเพื่อดาวน์โหลด)

สารระเหย กัญชา คาธิโนน กระท่อม

โดย รศ.พญ.รัศมน กัลยาศิริ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผู้จัดการศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.)


สารระเหย (inhalants)

โดยทั่วไปแบ่งชนิดสารระเหยออกได้เป็นสี่ประเภท คือ 1) ตัวทำละลายที่ระเหยได้ที่ อุณหภูมิห้อง เช่น กาว ทินเนอร์ น้ำยาไฟแช็ก แก๊สโซลีน น้ำยาลบคำผิด 2) ละออง เช่น สเปรย์ พ่นสี จัดแต่งทรงผม ระงับกลิ่นกาย 3) แก๊ส เช่น คลอโรฟอร์ม ฮาโลเทน ไนตรัสออกไซด์ บิวเทน       โปรเพน 4) ไนไตรท์ เช่น ปอปเปอร์ โดยใช้สำหรับการเพิ่มความรื่นรมย์ทางเพศ มักนิยมในหมู่ชาย รักชาย สารระเหยนั้นสามารถนำมาใช้ได้หลากหลายวิธี เช่น สูดดมไอระเหยโดยตรง สเปรย์เข้า จมูก อาจใส่ในผ้าและนำไปใส่ไว้ในถุงเพื่อสูดดม เมื่อใช้แล้วจะเกิดความรู้สึกเป็นสุขได้เพียงไม่กี่ นาที จึงต้องสูดดมซ้ำบ่อยครั้งเป็นเวลาหลายชั่วโมง

สารระเหยพวกไนตรัสออกไซด์ ยังมีที่ใช้ทางการแพทย์ เช่น เป็นยาสลบ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่นำมาเสพติด มักต้องการได้ผลด้านความรู้สึกเป็นสุขที่เกิดจากสารระเหย ลดความวิตกกังวล แต่มีผลข้างเคียงคือ ทำให้ง่วงนอน พูดไม่ชัด ขาดการประสานงานของกล้ามเนื้อ คลื่นไส้อาเจียน สับสน และประสาทหลอนได้ โดยหากใช้ระยะยาวจะทำให้เกิดการเสื่อมของปลายประสาท สูญ เสียการได้ยิน ทำลายสมองและระบบประสาทส่วนกลาง ทำลายไขกระดูก ทำลายตับ ไต และทำ ให้เกิดการลดลงของระดับออกซิเจนในกระแสเลือดได้ ทั้งนี้ จะทำให้เกิดการทำลายไมอิลินที่เป็น แผ่นหุ้มเส้นประสาท (myelin sheath) ที่ทำหน้าที่ป้องกันเซลล์ประสาท การใช้สารระเหยจึงอาจ ทำให้เกิดอาการกล้ามเนื้อเกร็งตัว สั่น เดินเซ บางรายหากใช้สารในขนาดสูง จะทำให้เกิดหัวใจ ล้มเหลวหรือขาดอากาศ (suffocation) ทำให้หมดสติ หยุดหายใจ และตายได้ภายในไม่กี่นาที หลังจากใช้สารซ้ำๆ อย่างไรก็ตาม ไม่พบว่ามีอาการถอนการใช้สารระเหยหากใช้ระยะยาวและ หยุดใช้สาร แต่จากการศึกษาในประเทศไทยโดยใช้แบบทดสอบ Semi-Structured Assessment for Drug Dependence and Alcoholism (SSADDA) ในคนไทยที่เข้ารับการบำบัดการติดสารเสพติดแบบผู้ป่วยใน กลับพบว่ามีผู้ใช้สารระเหยบางส่วนมีอาการถอนสารระเหยได้ โดยเฉพาะในผู้ที่ใช้จนถึงขั้นติดสารระเหย


กัญชา (ganja, marijuana)

กัญชา มาจากพืชตามธรรมชาติ คือ แคนาบิส ชื่อ Cannabis sativa มีสองรูปแบบคือ 1) มารีฮวนนา (marijuana) หรือในภาษาไทยมักเรียกว่ากัญชา ซึ่งเป็นการนำดอก ต้น เมล็ด หรือ ใบจากต้นแคนาบิสมาทำให้แห้งและหั่นฝอย 2) แฮชิช (hashish) เป็นยางของพืชแคนาบิสที่ทำให้เข้มข้นเหนียวจนสามารถเป็นน้ำมันหรือทับเป็นเค้กได้ กัญชาสามารถเสพได้ทั้งในรูปแบบสูบจากไปป์หรือม้วนเป็นบุหรี่ ส่วนน้ำมันกัญชามีการนำมาหยดเพื่อเพิ่มความแรงของกัญชาแห้ง ผลการออกฤทธิ์ของกัญชามักจะรู้สึกได้ในสองสามนาทีแรกหลังสูบ และหายไปได้ใน 2 – 3 ชั่วโมง ส่วนแบบกินนั้นผู้ใช้จะนำมาผสมกับอาหารหรือน้ำชา โดยผลมักจะเกิดภายใน 30 – 60 นาที และ สามารถอยู่ได้นาน 6 ชั่วโมง

อุรุกวัยเป็นประเทศแรกที่เปิดให้ใช้กัญชาได้อย่างถูกกฎหมายทั้งประเทศ แต่ต้องใช้โดย อยู่ภายใต้การควบคุม อย่างไรก็ตาม กัญชายังจัดเป็นสารเสพติดผิดกฎหมายในประเทศไทย และ ประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลก ทั้งนี้ มีการใช้สารสกัดจากพืชกัญชาหรือสารสังเคราะห์ในทางการแพทย์ สำหรับผู้นำมาใช้ในทางที่ผิดโดยไม่ได้มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์นั้น มักใช้เพื่อต้องการฤทธิ์ผ่อนคลาย ทำให้รู้สึกสงบ อารมณ์ร่าเริง แต่การใช้กัญชาทำให้มีการเปลี่ยนแปลงประสาทการรับรู้ และเวลา มีการมองเห็นภาพ “after image” ของสิ่งที่เคลื่อนไหวอยู่ และเพิ่มความอยากอาหาร การใช้กัญชาอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงคือ ทำให้หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง ตาแดง เนื่องจากมีเลือดไปที่เยื่อบุตามากขึ้น กล้ามเนื้อทำงานประสานกันได้ลดลง ระคายเคืองที่ปอด และมีอาการไอ การคิดไม่ปลอดโปร่ง และแก้ปัญหาต่างๆ ได้ลำบาก และอาจทำให้เกิดภาวะแพนิก (panic) ได้ สำหรับผู้ที่เสพกัญชาระยะยาว จะทำให้เกิดปัญหาทางเดินหายใจ เช่น ไอเรื้อรัง หลอดลมอักเสบ เสมหะมาก หน้าที่การทำงานคอกนิทิฟเสีย มีปัญหาความจำและการเรียนรู้ ระบบภูมิต้านทานถูกกด บางคนเกิดภาวะโรคจิต หรืออาจนำไปสู่ “amotivational syndrome” ซึ่งมีอาการพลังงานลดลง และลดความสามารถในการจดจ่อ ทำให้ไม่อยากทำงาน ไม่มีความสนใจทางด้านสังคม หรือกิจกรรมอื่นๆ นอกจากนี้ การใช้กัญชาในวัยรุ่นยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคจิตเภทในอนาคต และการใช้กัญชายังทำให้เพิ่มความเสี่ยงการเกิดจิตหวาดระแวงจากการใช้สารกระตุ้นประสาท เช่น โคเคน ได้ ทั้งนี้ ผลดังกล่าวเกิดจากสาร delta-9-tetrahydrocannabinol (delta-9-THC) ที่เป็นสารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทที่สำคัญในกัญชา

สมัยก่อนผู้เชี่ยวชาญมีความเห็นว่าการใช้กัญชาระยะยาวจะไม่มีอาการถอน แต่ต่อมา พบว่าอาการถอนกัญชาสามารถเกิดขึ้นได้ เช่น อาการกระสับกระส่าย นอนไม่หลับ ลดความ อยากอาหาร และในบางรายมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน โดยอาการจะเกิดขึ้นประมาณหนึ่งวันหลัง ใช้ครั้งสุดท้าย และมีอาการถอนได้สูงสุดใน 2 -3 วัน โดยอาการจะหายไปได้ภายใน 1 -2 สัปดาห์ อย่างไรก็ตามอาการถอนเหล่านี้ ไม่เป็นอันตราย และไม่ต้องใช้การรักษาทางยา


คาธิโนน (cathinone)

มิรา หรือ แคท หรือ พืช Catha edulis เป็นพืชที่มีสารคาธิโนน และคาธีน (cathine) ซึ่งเป็นสารเคมีที่สามารถเปลี่ยนอารมณ์ของผู้ใช้สารได้ โดยการนำเข้าสู่ร่างกายมีผู้ใช้แบบเคี้ยวใบ สด หรือนำไปชงเป็นชาดื่มหรือสูบ ทั้งนี้ สารคาธิโนนไม่มีที่ใช้ทางการแพทย์ เมื่อนำเข้าสู่ร่างกาย แล้วอาจทำให้มีอารมณ์เป็นสุข ตื่นตัว ตื่นเต้น และมีพลัง แต่มีผลข้างเคียงคือทำให้ไม่อยาก อาหาร ประสิทธิภาพทางเพศลดลง ท้องผูก และติดเชื้อในช่องปากได้ง่าย โดยหากใช้ระยะนาน อาจเกิดมะเร็งช่องปาก อารมณ์ซึมเศร้า หากใช้ในหญิงตั้งครรภ์จะทำให้ทารกน้ำหนักน้อยและทำ ให้การสร้างน้ำนมลดลง โดยทำให้เกิดอาการถอนได้หากใช้ขนาดสูงเป็นระยะเวลานานแล้วหยุด หรือลดปริมาณการใช้อย่างทันทีทันใด โดยอาการถอนสารที่อาจมีได้ เช่น รู้สึกไม่อยากทำอะไร มีอาการฝันร้าย ซึมเศร้า มือสั่น ไม่มีพลังงาน เป็นต้น

ในต่างประเทศ มีการใช้ “bath salts” ซึ่งเป็นสารสังเคราะห์ที่เกี่ยวกับคาธิโนน โดยคาธิโนนนั้นจัดเป็นสารที่มีฤทธิ์กระตุ้นและมีลักษณะทางเคมีคล้ายแอมเฟตามีนและยาอี เมื่อใช้แล้วจะทำให้เกิดอารมณ์เป็นสุข เพิ่มการเข้าสังคม และเพิ่มแรงขับทางเพศ แต่มีผลข้างเคียงได้ เช่น อาการหวาดระแวง กระสับกระส่าย ประสาทสัมผัสหลอน พฤติกรรมก้าวร้าวและรุนแรง หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง เจ็บหน้าอก ภาวะขาดน้ำ ไตวาย จนอาจถึงแก่ชีวิตได้ สารนี้มักบรรจุอยู่ในรูปแบบผงสีขาวหรือน้ำตาล นำเข้าสู่ร่างกายโดยการกินทางปาก สูดทางจมูก หรือฉีด โดยผู้จำหน่ายอาจหลีกเลี่ยงการถูกจับกุมโดยขายสารนี้ในลักษณะเป็นสารห้ามบริโภค เช่น ปุ๋ย สารทำความสะอาด เครื่องประดับ บางครั้งจึงเรียกสารกลุ่มดังกล่าวว่า “legal high”  ซึ่งหมายถึง สารที่ทำให้เกิดอารมณ์เป็นสุขและเสพติดได้เหมือนสารเสพติดอื่นแต่คนทั่วไปกลับสามารถนำมา ใช้ได้อย่างถูกกฎหมาย โดยสารสังเคราะห์จำพวกคาธิโนนที่พบใน bath salts นั้น คือ 3,4-methylenedioxypyrovalerone (MDPV), mephedrone (drone, meph, meow meow), methylone, methedrone, butylone และอื่นๆ อีกหลายชนิดที่ยังไม่ทราบส่วนประกอบอันอาจมี อันตรายต่อร่างกาย การออกฤทธิ์หลักของสารคาธิโนน คือ การเพิ่มกระดับโดปามีนในสมอง โดย พบว่า MDPV นั้น สามารถเพิ่มโดปามีนได้มากกว่าโคเคนถึง 10 เท่า  นอกจากนี้ ยังพบผลในหนู ทดลองว่า mephedrone และ methylone  สามารถเพิ่มระดับซีโรโทนินในลักษณะเดียวกับยาอี อีกด้วย


กระท่อม (kratom)

สำหรับประเทศไทย มีการใช้พืชกระท่อมซึ่งเป็นไม้ยืนต้นพบได้ตามธรรมชาติ โดยนำมา ใช้ในทางที่ผิด มักนำเข้าสู่ร่างกายโดยการเคี้ยวใบสด โดยรูดเอาก้านใบออกจากตัวใบ หรือบดใบ แห้งนำไปละลายน้ำดื่ม ทั้งนี้ มีต้นกระท่อมสองชนิด คือ ก้านแดงกับก้านเขียว โดยมักนำพืช กระท่อมแบบก้านแดงมาใช้เพื่อความบันเทิง ใบกระท่อมมีสารอัลคาลอยด์ชนิดหนึ่ง ชื่อ ไมทรา ไจนีน (Mitragynine) ที่เชื่อว่าเป็นสารออกฤทธิ์ของพืชกระท่อม ทั้งนี้ สารจากใบกระท่อมมีฤทธิ์ คล้ายยาบ้า โดยสารจะไปกระตุ้นสมองเมื่อใช้ขนาดต่ำๆ ทำให้ตรากตรำทำงานหนักได้ ไม่รู้สึก อยากอาหาร ส่วนการใช้ขนาดสูงจะทำให้มีผลกดประสาท อีกทั้งยังลดอาการปวดเมื่อย คล้ายการ ออกฤทธิ์ของสารโอปิออยด์ แต่สารนี้มีฤทธิ์น้อยกว่ามอร์ฟีนประมาณ 10 เท่า นอกจากนี้ ยังพบว่า มีฤทธิ์กดการทำงานของตัวรับซีโรโทนิน (5-HT2A) ในสมองของสัตว์ทดลอง และสามารถยับยั้ง การหลั่งกรดในกระเพาะอาหารได้ ในสมัยโบราณ สามารถนำใบกระท่อมมาใช้เพื่อแก้อาการท้อง เสีย รักษาโรคเบาหวาน โดยเฉพาะการรักษาแพทย์แผนไทย อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้ส่วนใหญ่มีการนำ พืชกระท่อมไปต้มและผสมสารเสพติดอื่น เช่น เครื่องดื่มสี่คูณร้อย (4 x 100) โดยมีชื่อเรียกว่า น้ำต้มใบกระท่อม (kratom cocktail)  ที่มีส่วนผสมของยาแก้ไอ เครื่องดื่มโค้ก และยาหรือสารเสพติดอื่นๆ โดยใช้อย่างเป็นที่แพร่หลายทางภาคใต้ของประเทศไทย มีความพยายามที่จะนำสารสกัดจากพืชกระท่อมไปศึกษาการนำมาใช้ทางการแพทย์ เช่น บรรเทาอาการปวด เป็นต้น แต่ยังต้องการค้นคว้าวิจัยถึงประโยชน์และผลกระทบที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้นต่อไป


สำหรับอาการเมื่อใช้ใบกระท่อมเป็นระยะเวลานาน จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของ เม็ดสีที่ผิวหนังทำให้ผิวคล้ำ อาจมีอาการจิตหวาดระแวง เห็นภาพหลอนได้ในบางราย และอาจมี อาการท้องผูก ปากแห้ง ปัสสาวะบ่อย โดยหากหยุดการใช้สารในทันทีทันใดหลังจากใช้มาเป็น ระยะเวลานานจะทำให้เกิดอาการถอนสารได้ เช่น เกิดอาการอ่อนแรง รู้สึกไม่มีแรง อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกระดูกและกล้ามเนื้อ มีไข้ ท้องเสีย น้ำตาไหล น้ำมูกไหล อารมณ์เศร้า นอนไม่หลับ คลื่นไส้ อาเจียน กระวนกระวาย เป็นต้น


---------------------------------------

ดัดแปลงและคัดลอกจาก Kalayasiri R. Addiction & Psychiatric Complications. Bangkok: Department of Psychiatry, Faculty of Medicine, Chulalongkorn University; 2018 

---------------------------------------