สารหลอนประสาท (hallucinogens)

เมื่อ : 2019-10-02 13:48:26 อ่านแล้ว: 94654 ครั้ง
ชื่อไฟล์ที่สามารถดาวโหลดได้ (คลิกเพื่อดาวน์โหลด)

โดย รศ.พญ.รัศมน กัลยาศิริ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผู้จัดการศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.)


กลไกการออกฤทธิ์ของสารหลอนประสาท

สารหลอนประสาทเป็นสารที่ออกฤทธิ์ทำให้เกิดประสาทการรับรู้มีการเปลี่ยนแปลง มี อาการหลอนทางระบบประสาทการรับรู้ เช่น ทางการมองเห็น การได้ยิน การรับรส รวมถึงการ สัมผัสรับรู้ตัวเอง และการรับรู้สิ่งนอกตัว ทั้งนี้ สารหลอนประสาทมักมีระยะเวลาการออกฤทธิ์ ประมาณ 1 ชั่วโมง และอยู่ได้นานถึง 12 ชั่วโมง 


สารที่อยู่ในกลุ่มหลอนประสาท

สารในกลุ่มนี้ ได้แก่ 

แอลเอสดี (LSD หรือ d-lysergic acid diethylamide) มีในรูปแบบของเหลว เม็ด แคปซูล หรือเป็นแผ่นกระดาษเล็กๆ จุ่มสาร และ แบบผง โดยใช้แบบกิน ทางปาก 

เห็ดไซโลไซบิน (psilocybin) และสารเมสคาลีน (mescaline) ที่มีอยู่ในตุ่มเล็กๆ ที่ยื่นออกมาของพืชจำพวกแคคตัสที่ไม่มีหนาม เช่น peyote mulato และ sunami ที่ชนเผ่าอินเดียนโบราณแถบประเทศเม็กซิโกนำมาใช้เพื่อติดต่อกับ พระเจ้า และมีอยู่ในยอดของต้น Trichocereus pachanoi ที่ถูกนำมาใช้ ในชน เผ่าอินเดียนเช่นกันแถบประเทศเปรูและโบลิเวีย สำหรับสารเมสคาลีนอาจผลิต อยู่ในรูปแบบแคปซูลที่ภายในบรรจุผงสีขาวหรือน้ำตาล ส่วนเห็ดไซโลไซบินหรือ ตุ่มพีโยติเองมีการนำมาเคี้ยวกินหรือชงเป็นน้ำชาดื่ม

พีซีพี (phencyclidine; PCP) ยาเค หรือเคตามีน (ketamine) ซึ่งเป็นสารที่ได้ จากพีซีพี เป็นสารในกลุ่ม dissociative anesthetics หมายถึงการมีฤทธิ์ทำให้ สลบ โดยทำให้กล้ามเนื้อนิ่งอยู่กับที่ (catalepsy) ทำให้ระงับปวด (analgesia) และ ทำให้สูญเสียความจำ (amnesia) กล่าวคือสมองบางส่วนจะถูกยับยั้ง แต่ ขณะเดียวกันสมองบางส่วนถูกกระตุ้น ทำให้บางครั้งผู้ป่วยยังลืมตา กล้ามเนื้อ เกร็งได้อยู่ขณะให้ยาเคตามีนเพื่อทำให้สลบ บางรายงานจัดสารในกลุ่มนี้ว่ามี ฤทธิ์กดประสาทด้วย ซึ่งได้มีการนำมาใช้ในทางการแพทย์เพื่อเป็นยาสลบ หรือ ยานำสลบในการผ่าตัดและสามารถใช้บรรเทาอาการปวดเรื้อรัง ในผู้ใช้บางราย อาจทำให้เกิดอาการหลอนประสาท โดยพีซีพีได้ถูกนำมาใช้เป็นแบบจำลองการ เกิดโรคจิตเภทในการศึกษาในสัตว์ทดลอง ไม่นานมานี้มีการศึกษายาเคตามีน ในการนำมาใช้ในการรักษาโรคซึมเศร้า สารในกลุ่มนี้จัดเป็นสารสังเคราะห์ทั้ง สิ้น โดย พีซีพี มีลักษณะเป็นผงสีขาว อาจอยู่ในรูปแบบของของเหลว เม็ด หรือแคปซูล ส่วนยาเคเป็นของเหลวแต่มักไปทำให้ระเหยเพื่อใช้เป็นผงในการนำมาเสพติด สามารถใช้ได้ทั้งแบบกินทางปาก สูบ หรือสูดเข้าทางจมูก

ยาอี (ecstasy) หรือ สารเอ็มดีเอ็มเอ (MDMA) ซึ่งบางครั้งถูกจัดอยู่ในกลุ่ม ATS ดังที่กล่าวข้างต้น เนื่องจากสูตรโครงสร้างทางเคมีที่เกี่ยวข้องกับแอมเฟตามีน โดยพบการใช้ในวัยรุ่นเพื่อเพิ่มความสนุกสนานเวลาสังสรรค์ การใช้ยาอีจะส่ง ผลเป็นอันตรายต่อสมอง ดังที่พบในการศึกษาในสัตว์ทดลอง โดยนำลิงที่ได้รับ ยาอีเป็นเวลาเพียงสี่วันจะเกิดการทำลายของส่วนปลายของเซลล์ประสาทซีโรโทนิน ซึ่งผลนี้ยังคงอยู่แม้ผ่านไป 6 – 7 ปี ต่อมา


ผลของสารหลอนประสาทต่อจิตใจ

ฤทธิ์ที่เป็นที่ต้องการของผู้นำสารหลอนประสาทมาเสพมีได้หลากหลาย และฤทธิ์ที่เกิด ขึ้นแตกต่างกันไปตามบุคคลขึ้นกับขนาดที่ใช้ สถานที่ที่ใช้ ความคาดหวังของผู้ใช้ และลักษณะ บุคลิกภาพของแต่ละบุคคล โดยส่วนใหญ่ผู้ใช้สารหลอนประสาทมักคาดหวังให้เกิดประสาทการ รับรู้ที่เด่นชัด เช่น เห็นสีชัดเจน เห็นภาพคมชัด ได้ยินเสียง หรือ รับรสได้แจ่มชัด หรือมี synesthesia ซึ่งหมายถึงการมีประสาทการรับรู้ข้ามช่องทาง เช่น “ได้ยินสี” หรือ “เห็นเสียง” หรือ มี hallucination คือประสาทสัมผัสหลอนได้ บางคนเห็นภาพบิดเบี้ยวไป หรือมีความรู้สึกการรับรู้ ตนเองเปลี่ยนแปลง เช่น เหมือนอยู่ในสภาพไร้น้ำหนัก หรือสูญเสียการรับรู้สิ่งแวดล้อม หรือความ เป็นจริง เช่น หลอมรวมภาพในอดีตกับปัจจุบัน การรับรู้ตนและเวลาเปลี่ยนไปเหมือนอยู่ในความ ฝัน และให้ความใส่ใจรายละเอียดทางความคิด ประสบการณ์ หรือวัตถุ สำหรับผลทางด้าน อารมณ์อาจรู้สึกสนุกสนาน มีอารมณ์สุขถึงขีดสุด อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้บางรายจะมี “bad trip” หมายถึงการมีประสาทหลอนที่น่าสะพรึงกลัว สับสน หวาดระแวง กระสับกระส่าย แพนิกตื่นกลัว ขณะใช้สารหลอนประสาท

การใช้สารหลอนประสาทจะมีผลข้างเคียงทำให้รู้สึกไม่สบาย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวด ศีรษะอย่างแรง ซึ่งเกิดได้บ่อยในผู้ที่ใช้ตุ่มพีโยติ นอกจากนี้ยังมีผลข้างเคียงอื่น เช่น ความอยาก อาหารลดลง หนาวสั่น ตัวสั่น มือสั่น ไข้ขึ้นสูง เหงื่อออก สมาธิการตัดสินใจเสีย รูม่านตาขยาย หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง นอนไม่หลับ ปากแห้ง ทำให้ชัก ขาดสารน้ำ โดยเฉพาะ เมื่อใช้สารหลอนประสาท เช่น ยาอีร่วมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาจทำให้เกิด ภาวะ heatstroke เกิดการทำลายกล้ามเนื้อ และไตวายได้ และหากใช้สารหลอนประสาทในระยะยาวจะทำให้เกิด อาการโรคจิตในผู้ที่มีความเปราะบางอยู่แล้ว นอกจากนี้ อาจเกิดอาการ flashbacks ซึ่งหมายถึง การเกิดบางอาการ เช่น ภาพหลอน ซึ่งเคยเกิดขึ้นขณะอยู่ภายใต้ฤทธิ์สารหลอนประสาท และ มาเกิดอีกครั้งทั้งๆ ที่ไม่ได้ใช้สารอีก ซึ่งอาการ flashbacks นี้ สามารถเกิดขึ้นได้ทันทีทันใด โดยไม่มีอะไรเตือนมาก่อน และอาจเกิดได้หลังจากใช้สารภายในสองสามวันแรกหรือหลังจากใช้สารมาแล้วเป็นปีๆ โดยผู้ใช้บางรายอาจเกิดอาการดังกล่าวได้ตลอดอย่างต่อเนื่องทำให้เกิดความไม่สุขสบายอย่างมาก จนเกิดการทำหน้าที่ในชีวิตประจำวันเสียไป เรียกภาวะนี้ว่า Hallucinogen- induced persisting perceptual disorder เป็นต้น

การใช้ พีซีพี จะทำให้มีการบิดเบือนประสาทการรับรู้เช่นเดียวกับสารหลอนประสาทอื่นๆ ทำให้รู้สึกแยก (detachment) จากสิ่งแวดล้อมและตนเอง รู้สึกตนเองมีพลัง ผ่อนคลาย และเคลิบ เคลิ้มได้เล็กน้อย อย่างไรก็ตาม มีผลข้างเคียงทำให้เกิดความวิตกกังวล ซึมเศร้า หายใจตื้นเร็ว หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง หน้าแดง เหงื่อออก ชาปลายมือปลายเท้า คลื่นไส้ อาเจียน สูญเสียการประสานงาน ตาพร่ามัว ไม่ตอบสนองต่อความปวด ประสาทหลอน สับสนวัน เวลา สถานที่ วิงเวียน จนไปถึงเกิดความก้าวร้าว และมีพฤติกรรมรุนแรงได้ หากใช้ระยะยาวอาจทำให้เกิดอาการชัก โดย พีซีพี จะทำให้เกิดอาการคล้ายโรคจิตเภท เช่น หลงผิด หวาดระแวง หูแว่ว มองเห็นภาพหลอน ความคิดผิดปกติ และมีความรู้สึกห่างออกมาจากสิ่งแวดล้อมที่ตนอยู่ บางคนมีการสูญเสียความจำ พูดและคิดลำบาก ซึมเศร้า น้ำหนักลด โดยอาการยังคงอยู่แม้หลังเลิกใช้สารแล้วเป็นปี อย่างไรก็ตาม ไม่มีรายงานเกี่ยวกับอาการถอนหลังหยุดใช้สารพีซีพีหรือยาเค


อาการถอนสารหลอนประสาท

ยังไม่พบว่าการใช้สารหลอนประสาทเป็นระยะเวลายาวนานจะทำให้เกิดอาการถอน หากหยุดการใช้สารอย่างทันทีทันใด


---------------------------------------

ดัดแปลงและคัดลอกจาก Kalayasiri R. Addiction & Psychiatric Complications. Bangkok: Department of Psychiatry, Faculty of Medicine, Chulalongkorn University; 2018 

---------------------------------------