เกี่ยวกับศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.)

เมื่อ : 2019-08-20 09:31:48 อ่านแล้ว: 2138 ครั้ง
ชื่อไฟล์ที่สามารถดาวโหลดได้ (คลิกเพื่อดาวน์โหลด)

ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) หรือ Centre for Addiction Studies (CADS) มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ได้เริ่มเปิดดำเนินการในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2562 'ศศก.' เป็นศูนย์กลางสำหรับบุคลากรด้านวิชาการและด้านการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับงานสารเสพติดของประเทศ เช่น การติดเมทแอมเฟตามีน โอปิออยด์ แคนนาบิส กระท่อม รวมถึงพฤติกรรมเสพติดในเชิงสุขภาพ เช่น การติดเกม การติดการพนัน โดยทำงานสอดประสานเชื่อมโยงกับงานการให้คำปรึกษาเพื่อการเลิกสุราและการเสพติด (สายด่วนเลิกเหล้า 1413) ของภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์วิจัยปัญหาสุรา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป้าหมายหลักของ ศศก. คือการผลิตผลงานทางวิชาการการเสพติด เพื่อผลักดันนโยบายที่สำคัญของประเทศ รวมทั้งเป็นแหล่งฐานข้อมูลเชิงวิชาการด้านการใช้สารเสพติดที่ทันต่อสถานการณ์ และนำองค์ความรู้นั้นไปกระตุ้นให้เกิดวงจรการพัฒนาที่มีประสิทธิภาพในด้านการจัดการกับปัญหาจากการใช้สารเสพติดในสังคมไทย เพื่อเป้าหมายในการลดผลกระทบทางสุขภาพและสังคมโดยเฉพาะเด็กและเยาวชนจากการใช้สารเสพติด เพิ่มความรู้ความเข้าใจพื้นฐานของบุคคลทุกภาคส่วนในสังคมเกี่ยวกับปัญหาและปัจจัยที่มีผลต่อปัญหาการใช้สารเสพติดและมาตรการในการจัดการและป้องกันปัญหา และเพิ่มความตระหนักและการมีส่วนร่วมของบุคคลทุกภาคส่วนในสังคมในการจัดการกับปัญหาสารเสพติด และจัดการองค์ความรู้และต่อยอดงานวิชาการที่มีอยู่ให้มีความต่อเนื่อง มีประสิทธิภาพ และยั่งยืน

 


ความเป็นมาเครือข่ายวิชาการในการวิจัยสารเสพติดในประเทศไทย

การดำเนินงานวิชาการด้านการเสพติดของประเทศไทย เริ่มกำเนิดและพัฒนามาอย่างต่อเนื่องหลายทศวรรษ ประเทศไทยมีบุคลากรด้านวิชาการสารเสพติดทำงานกระจายอยู่ในหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ มหาวิทยาลัย และองค์กรเอกชน แต่ละหน่วยงานมีลักษณะเฉพาะตัวในการทำงาน โดยมีโครงสร้างความเชี่ยวชาญ และมีขอบเขตการเชื่อมโยงกับฝ่ายนโยบายเพื่อการนำไปใช้ในระดับที่มากน้อยแตกต่างกัน หน่วยงานในปัจจุบันที่มีลักษณะเฉพาะในการทำงานด้านวิชาการที่เกี่ยวข้องกับสารเสพติด ซึ่งรวมทั้งสารเสพติดถูกกฎหมายและสารเสพติดผิดกฎหมายในองค์กรต่าง ๆ ได้แก่ ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ ศูนย์วิชาการสารเสพติดภาคเหนือมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศูนย์วิจัยยาเสพติดวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุขจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมีบางแผนงานที่ได้ดำเนินงานในระยะเวลาหนึ่ง เช่น แผนงานการพัฒนาระบบการดูแลผู้มีปัญหาการดื่มสุรา แผนงานภาคีวิชาการสารเสพติด เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีคณะทำงานที่มีทั้งรูปแบบการทำงานแบบคณะกรรมการเฉพาะกิจหรือองค์กรถาวรที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ในการจัดการแก้ไขปัญหาสารเสพติดของประเทศที่อาจมีแผนการทำงานด้านวิชาการสารเสพติดประกอบเป็นส่วนหนึ่งในการทำงาน ทั้งในรูปแบบการศึกษาวิจัยภายในหน่วยงานหรือการให้ทุนในการทำวิจัยแก่หน่วยงานภายนอก หน่วยงานหรือองค์กรเหล่านี้ ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด โครงการกำลังใจ สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี กองบริหารการสาธารณสุข ศูนย์พลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติด สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลักของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ทั้งนี้ยังมีอาจารย์และนักวิจัยด้านสารเสพติด กระจายอยู่ในสถาบันการศึกษาทั้งทางด้านสังคม และด้านการแพทย์ การสาธารณสุขทั่วประเทศไทย

 


สถานการณ์สารเสพติดในประเทศไทย ปี พ.ศ.  2562 - 2565

จากการสำรวจการใช้สารเสพติดของประชากรไทยอายุ 18 - 65 ปี ของศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 พบค่าประมาณความชุกการใช้กัญชาในหนึ่งปีเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.3 ในปี พ.ศ. 2562 เป็นร้อยละ 2.5 และร้อยละ 4.3 ในปี 2563 และ 2564 และเพิ่มขึ้นถึงสิบเท่าเป็นร้อยละ 25 ในปี พ.ศ. 2565 หลังจากการนำกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษ ทำให้เกิดการใช้กัญชาโดยทั่วไปได้โดยไม่ผิดกฎหมาย ขณะที่ค่าประมาณความชุกการใช้สารเสพติดอื่นในหนึ่งปี เช่น เมทแอมเฟตามีน (ร้อยละ 0.1, 0.5, 0.1, 0.1) ในปี 2562 - 2565 นั้นไม่มีการเปลี่ยนแปลงนัก ส่วนแอลกอฮอล์ (ร้อยละ 51.0, 40.6, 36.8) และการสูบบุหรี่ (ร้อยละ 28.5, 23.2, 22.1) มีการลดลงในช่วงการปิดเมืองระหว่างการระบาดของโรคโควิด-19 ในปี พ.ศ 2562 - 2564 แต่ปี พ.ศ. 2565 การใช้แอลกอฮอล์ (ร้อยละ48.9) และสูบบุหรี่ในปีที่ผ่านมา (ร้อยละ 25.5) เริ่มมีแนวโน้มกลับไปเป็นเหมือนก่อนการระบาดของโรคโควิด-19  เยาวชนอายุ 18-19 ปี มีความชุกการสูบกัญชาในหนึ่งปีที่ผ่านมามากขึ้นจากเพียงร้อยละ 0.9 ในปี พ.ศ. 2562 เพิ่มเป็น ร้อยละ 2.0, 2.2 และร้อยละ 9.9 ในปี2563 - 2565 ตามลำดับในช่วงโรคระบาด และการปรับกฎหมายในการนำกัญชามาใช้ทางการแพทย์ของประเทศไทยในปี 2562 การนำบางส่วนของกัญชา เช่น ใบ มาใช้แบบนันทนาการในปี 2564 และการใช้กัญชาแบบเสรีในปี 2565 ทั้งนี้ ประเทศไทยได้มีการออกประมวลกฎหมายยาเสพติด ปี พ.ศ. 2564 ขึ้นมาใหม่ และอยู่ระหว่างการออกกฎหมายลูกมารองรับตัวประมวลกฎหมายนี้ เช่น การกำหนดปริมาณสารเสพติดในครอบครองที่จะมีการจับกุมเพื่อการดำเนินคดีต่อไป

 

นอกจากนี้ จากการสำรวจของสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดแห่งชาติซึ่งเป็นการสำรวจครัวเรือนทั้งประเทศทุก 3-5 ปี พบว่า กลุ่มผู้ใช้สารรายใหม่มีสัดส่วนลดลงในสิบปีที่ผ่านมา แต่พบว่ากลุ่มเด็กอายุ 15-19 ปี ที่ใช้สารเสพติดผิดกฎหมายมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น จากร้อยละ 18.6 เป็นร้อยละ 21.4 โดยครึ่งหนึ่งกำลังเรียนอยู่ในชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น กลุ่มสารเสพติดที่ใช้เพิ่มขึ้นในกลุ่มอายุนี้ คือ กัญชา พืชกระท่อม และเฮโรอีน และพบแนวโน้มของการใช้สารเสพติดผิดกฎหมายมากกว่าหนึ่งชนิดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปี พ.ศ. 2562 มีจำนวนผู้เคยใช้สารเสพติดชนิดใดชนิดหนึ่งใน 1 ปี และ 30 วันที่ผ่านมา มากที่สุดในภาคอีสานและภาคกลาง (จำนวน 389,336 คน และ 291,149 คน) โดยยาบ้าเป็นสารเสพติดผิดกฎหมายที่มีการจับกุมสูงสุด รองลงมาคือกระท่อม ไอซ์ และกัญชาแห้ง นอกจากนี้ จากข้อมูลสถานการณ์ยาเสพติดจากการสัมภาษณ์แกนนำภาคประชาชนในแต่ละภูมิภาคเกี่ยวกับผลกระทบทางสังคมที่เกิดจากสถานการณ์ปัญหาโควิด-19 ในแต่ละพื้นที่ พบว่า ยาบ้ามีราคาถูกลง พบอัตราการใช้เฮโรอีนเพิ่มมากขึ้น กลุ่มผู้ใช้ส่วนใหญ่ในพื้นที่ต่างจังหวัดมักเป็นกลุ่มที่ผ่านการเข้าค่ายบำบัดแต่ไม่สามารถเลิกได้ และในช่วงที่มีการปิดเมืองในช่วงโรคระบาด แกนนำภาคประชาชนได้มองเห็นภาพรวมของกลุ่มผู้ใช้สารเสพติดว่ามีการมั่วสุมกันลดน้อยลง แต่ใช้วิธีการใช้สารตามที่พักอาศัยส่วนตัว นอกจากนี้ยังพบว่า เครือข่ายผู้ค้ายาเสพติดมีการปรับรูปแบบเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์โรคระบาดโดยมีการใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการซื้อขายสินค้า ทำให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบยากมากขึ้น