กรอบแนวคิดและขอบเขตงาน
นินามเชิงปฏิบัติการ
นิยามของสารเสพติด : ในที่นี้รวมถึงสารเสพติดหรือสารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาททุกชนิด เช่น กัญชา สารกระตุ้นประสาทกลุ่มแอมเฟตามีน (เช่น ยาบ้า ไอซ์) สารกลุ่มฝิ่น (ฝิ่น เฮโรอีน เป็นต้น) กระท่อม น้ำต้มกระท่อม สารระเหย โคเคน ยาเค ยาอี และยารักษาโรคที่ถูกนำมาใช้เป็นสารเสพติดอื่น ๆ เพื่อความรื่นเริงหรือที่มีการใช้ในแบบผิดแผน เช่น ยานอนหลับ ยากล่อมประสาท ยาแก้ไข้ ยาแก้ปวด ยาแก้ไอ และยาลดความอ้วน เป็นต้น รวมทั้งสารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทตัวใหม่ (new psychoactive substances -NPS) ที่จำเป็นต้องศึกษาติดตาม โดยไม่ได้เน้นการศึกษาเกี่ยวกับสุราและยาสูบ แต่อาจจะอยู่ในการศึกษาวิจัยที่ให้การสนับสนุนได้ หากเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสารเสพติดชนิดอื่น
นิยามของพฤติกรรมเสพติด : ในที่นี้หมายถึงพฤติกรรมการติดเครื่องมือ อุปกรณ์ กิจกรรมอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากสารเสพติดตามนิยามข้อบน เช่น พฤติกรรมติดการพนัน ติดเกม ติดอินเตอร์เน็ต เป็นต้น
แผนการปฏิบัติการของศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) เป็นการสร้างความมั่นคงทางวิชาการโดยทำงานใกล้ชิดกับหน่วยงานที่สำคัญด้านนโยบาย ยุทธศาสตร์และหน่วยปฏิบัติ และประสานร่วมกับนักวิชาการ / นักวิจัยด้านสารเสพติดจากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ทั่วประเทศ รวมทั้ง บุคลากรภาคประชาสังคมและชุมชน เพื่อผลในการเฝ้าระวัง ป้องกัน บำบัดรักษา และการแก้ไขปัญหาสารเสพติดในเด็กและเยาวชนในประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์เฉพาะ เพื่อศึกษาบทเรียนและองค์ความรู้ทั้งจากในและต่างประเทศ พัฒนาการป้องกันแก้ไขปัญหาโดยร่วมดำเนินงานและถ่ายทอดองค์ความรู้สู่หน่วยงานระดับนโยบายและปฏิบัติ สนับสนุนให้เกิดเครือข่ายนักวิจัยและนักวิชาการ และเป็นเครือข่ายกับองค์กรระหว่างประเทศและต่างประเทศ อีกทั้งมีการสื่อสารกับสังคมถึงสถานการณ์และองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้อง
ขอบเขตงาน
จุดยืนของศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) คือ การมุ่งเน้นการเป็นแหล่งความรู้ทางวิชาการ การผลิตผลงานทางวิชาการเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนงานสารเสพติดที่กระจายอยู่ในหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และชี้นำสังคมโดยใช้แหล่งข้อมูลความรู้เชิงประจักษ์เป็นพื้นฐาน โดยครอบคลุมการสนับสนุนการทำงานวิชาการและวิจัยเพื่อการพัฒนางาน ผลักดันนโยบายและขับเคลื่อนสังคมในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการจัดการปัญหาสารเสพติดในเด็กและเยาวชนในระบบสาธารณสุข ระบบการศึกษา และชุมชน ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม และประชาชน และงานวิชาการที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมเสพติด เช่น การติดเกม ติดอินเตอร์เน็ต และติดการพนัน เป็นต้น รวมถึงผลที่เกี่ยวข้องกับการสูญเสียทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวเนื่องกับสารเสพติดที่มีต่อบุคคล ครอบครัว สังคมในผู้ที่ติดสาร เทียบเคียงกับประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ได้รับจากการนำสารมาใช้โดยมีวัตถุประสงค์เฉพาะ ได้แก่ การทำงานในด้านการฟื้นตัวและการเข้าถึงบริการในชุมชนเพื่อให้มีผลกระทบทางบวกในเชิงการป้องกันปัญหาการเสพติดในชุมชน (Recovery and service accessibility / Prevention) การจัดฐานข้อมูลเชิงการสำรวจให้เป็นประจำทุกหนึ่งปีเป็นอย่างน้อยเพื่อประกอบการกำหนดทิศทางเชิงนโยบายได้ทันท่วงที (National survey) งานการสร้างฐานนักวิชาการด้านการเสพติดอย่างต่อเนื่อง (Researcher networking) และการสื่อสารงานวิชาการสู่สาธารณะ (Public communication)