สารกระตุ้นประสาท (stimulants)

เมื่อ : 2019-10-02 13:28:59 อ่านแล้ว: 89257 ครั้ง
ชื่อไฟล์ที่สามารถดาวโหลดได้ (คลิกเพื่อดาวน์โหลด)

โดย รศ.พญ.รัศมน กัลยาศิริ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผู้จัดการศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.)


กลไกการออกฤทธิ์ของสารกระตุ้นประสาท

สารกระตุ้นประสาทออกฤทธิ์โดยการเพิ่มการทำงานของสารสื่อประสาทโดปามีน (dopamine) เป็นหลัก โดยสารจำพวกเมทแอมเฟตามีนมีฤทธิ์ยาวนานประมาณ 4 – 6 ชั่วโมง และนานได้มากกว่า 8 ชั่วโมง หากใช้แบบสูบ ส่วนโคเคนดูดซึมได้เร็วกว่าเมทแอมเฟตามีน และมีฤทธิ์ที่สั้นกว่าเพียง 15 – 30 นาที ทำให้บางครั้งผู้เสพโคเคนต้องใช้สารซ้ำและใช้ในปริมาณมากขึ้น เพื่อให้คงอารมณ์สุขแบบพุ่งสูง (high, euphoria) นี้ได้นาน โดยเรียกการใช้สารซ้ำๆ อย่างมากนี้ว่า การ “binge” ทั้งนี้ สารที่ออกฤทธิ์กระตุ้นประสาทสามารถได้มาจากพืชตามธรรมชาติหรือการ สังเคราะห์สารขึ้นมาใหม่ก็ได้


สารที่อยู่ในกลุ่มสารกระตุ้นประสาท

สารในกลุ่มนี้ ได้แก่ 

เมทแอมเฟตามีน (methamphetamine) มาจากการสังเคราะห์เท่านั้น ไม่ สามารถหาได้จากตามธรรมชาติ พบการเสพ การขาย และการจำหน่ายสารเสพ ติดประเภทนี้ได้เป็นจำนวนมากในประเทศไทย ซึ่งพบทั้งในรูปแบบเม็ดที่เรียก กันโดยทั่วไปว่ายาบ้า (speed pill) หรือในรูปแบบเกล็ดที่เรียกว่ายาไอซ์ (ice, crystal meth) โดยยาบ้าจะมีการผสมสารอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น กาเฟอีน (caffeine) ซึ่งเป็นสารที่มีฤทธิ์กระตุ้นเช่นกัน เมทแอมเฟตามีนที่นำมาเสพเพื่อ ความบันเทิงทั้งในและต่างประเทศนั้นมักอยู่ในรูปแบบเกลือไฮโดรคลอไรด์ (hydrochloride; HCl) 

สำหรับสาร “แอมเฟตามีน” (amphetamine) นั้น ถูกค้นพบครั้งแรกในปี ค.ศ. 1887 จากนั้นมีการนำไปผลิตเพื่อใช้ในทางการแพทย์เพื่อบรรเทาอาการคัดจมูก เพื่อลดน้ำหนัก หรือเพื่อรักษาโรคซึมเศร้า ซึ่งเป็นแอมเฟตามีนในสองรูปแบบ คือ ลีโวแอมเฟตามีน (levo-amphetamine) และ เดกซ์โตรแอมเฟตามีน (dextro-amphetamine) โดยแบบหลังจะมีความแรงกว่าแบบแรกประมาณ     3 - 4 เท่า และมีการนำสารมาใช้เพื่อผลิตยาสำหรับรักษาโรคสมาธิสั้น (attention-deficit hyperactivity disorder; ADHD) โรคลมหลับ (narcolepsy) ทั้งนี้ ในต่างประเทศ จะเรียกกลุ่มสารทั้งหมดที่เกี่ยวกับแอมเฟตามีนว่า amphetamine-type stimulants (ATS) ซึ่งรวมถึงเมทแอมเฟตามีนด้วย นอกจากนี้ ยังมียาที่รู้จักในชื่อโดยทั่วไปว่ายาอี (ecstasy) ซึ่งเป็นสารสังเคราะห์เช่นกัน มีชื่อทางเคมี ว่า 3,4 methylenedioxymethamphetamine หรือ เอ็มดีเอ็มเอ (MDMA) สารดังกล่าวไม่มีที่ใช้ทางการแพทย์ ยาอีมีความเหมือนกันทางเคมีกับสารเมทแอม เฟตามีน และเมสคาลีน (mescaline) ซึ่งเป็นสารหลอนประสาท โดยกลไกการออกฤทธิ์ของยาอีนั้นจะเป็นสารหลอนประสาท แต่บางครั้งถูกจัดรวมไปอยู่ในกลุ่ม ATS นี้ด้วย เนื่องจากสูตรโครงสร้างทางเคมี

โคเคน (cocaine) เป็นสารเสพติดประเภทกระตุ้นประสาทที่สามารถสกัดได้จาก ใบโคคาซึ่งเป็นพืชตามธรรมชาติ สารสกัดโคเคนอัลคาลอยด์ (alkaloids) นี้ ถูก สกัดจากพืชได้ตั้งแต่ราวปลาย ค.ศ. 1800s ทั้งนี้ พุ่มต้นโคคาที่เป็นพืชที่พบได้ ตามธรรมชาติตั้งแต่โบราณก่อนจะถูกนำมาสกัดเป็นโคเคนอัลคาลอยด์นี้ แรก เริ่มพบการปลูกที่เทือกเขาแอนดิสซึ่งอยู่ในประเทศเปรู มากว่า 2,500 ปี โดย สามารถบริโภคใบโคคานี้ได้อย่างถูกกฎหมายทั้งในเปรูและโบลีเวีย เช่น นำใบ แห้งมาชงเป็นชาสำหรับต้อนรับแขกได้ แต่ไม่อนุญาตให้นำใบโคคาออกนอก ประเทศได้ ในระยะแรกที่สกัดโคเคนได้นั้น มีการนำโคเคนมาใช้ในทางการค้า เช่น ผสมโคเคนในเครื่องดื่มประเภทโคลา แม้แต่ ซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) ได้เคยทดลองใช้โคเคนกับตนเอง และเขียนบันทึกถึงผลดีของการใช้ โคเคนที่มีผลต่ออารมณ์ของตนในทางบวก ต่อมาเมื่อมีการใช้อย่างแพร่หลาย มากขึ้นกลับพบว่า โคเคนเป็นสารที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพหลายประการ หากใช้เป็นประจำและมีฤทธิ์เสพติดได้สูงมาก จึงได้มีการจัดให้โคเคนเป็นสารเสพติด ผิดกฎหมายเมื่อประมาณปี ค.ศ. 1906 ในปัจจุบันมีการใช้โคเคนทางการแพทย์ เช่น ใช้เพื่อเป็นยาชาเฉพาะที่ระหว่างการผ่าตัดบริเวณ ตา จมูก คอ  โคเคน ที่นำมาใช้เพื่อความบันเทิงกันโดยทั่วไปมีอยู่ในรูปแบบแป้งสีขาวใช้แบบสูดทางจมูก แต่สามารถถูกปรุงแต่งเป็น แครคโคเคน (crack cocaine) โดยผสม โคเคนกับน้ำและผงฟู (baking soda หรือ sodium bicarbonate) กลายเป็น ก้อน (rocks) และสามารถนำไปใช้แบบสูบได้ 

นิโคติน และกาเฟอีน จัดเป็นสารกระตุ้นประสาทที่กฎหมายอนุญาตให้ใช้ได้ โดยทั่วไป อย่างไรก็ตาม พบว่าการสูบบุหรี่ทำให้เกิดการเสพติดได้ในอัตราที่ มากกว่าการเสพสารเสพติดผิดกฎหมายชนิดอื่น อีกทั้ง การสูบบุหรี่เป็นการนำ สารก่อมะเร็งเข้าสู่ร่างกาย โดยผลกระทบที่สำคัญคือการก่อให้เกิด “ควันบุหรี่ มือสอง” (secondhand smoke) ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพแก่ผู้ใกล้ชิดผู้สูบ บุหรี่โดยเฉพาะผู้อาศัยในครัวเรือนเดียวกัน มีการศึกษาในประเทศไทย พบว่า ควันบุหรี่มือสองทำให้หญิงตั้งครรภ์และหญิงหลังคลอดมีคุณภาพชีวิตที่แย่กว่าผู้ที่ไม่ได้รับควันบุหรี่มือสอง การศึกษาจากทั้งในและต่างประเทศพบว่าควัน บุหรี่มือสองยังก่อให้เกิดผลต่อเด็กหลังคลอดที่มารดาได้รับควันบุหรี่ระหว่างตั้งครรภ์ เช่น น้ำหนักตัวน้อย และคลอดก่อนกำหนด เป็นต้น


ผลของสารกระตุ้นประสาทต่อจิตใจและร่างกาย

สารกระตุ้นประสาทจะออกฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของสมองส่วนกลาง ทำให้รู้สึกตื่นตัว กระฉับกระเฉง อดทนต่อการทำงานได้มากขึ้น จิตใจสดชื่น รู้สึกว่ามีพลัง เก่ง ฉลาด มีความมั่นใจ สูง  ปลดปล่อยตนเองในการเข้าสังคม พูดคุยเก่งขึ้น และเกิดอารมณ์สุขแบบพุ่งสูง หรือสุขแบบ ตื่นในระดับมากน้อยต่างกันไปตามชนิดสาร นอกจากนี้ยังเพิ่มประสาทสัมผัสการรับรู้ทั้งทางภาพ เสียง การสัมผัส เพิ่มความต้องการและสมรรถภาพทางเพศแต่ได้ผลเฉพาะเมื่อใช้สารในขนาดต่ำ เท่านั้น และยังมีผลเสียที่กระทบต่อร่างกายในระยะต้นเมื่อใช้สารกระตุ้นประสาท เช่น ทำให้ปวด ศีรษะ กระสับกระส่าย วิตกกังวล หงุดหงิด นอนไม่หลับ ก้าวร้าว อารมณ์รุนแรง ฉุนเฉียว หวาด ระแวง รู้สึกว่ามีแมลงไต่ตามผิวหนัง อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น หัวใจเต้นเร็ว และความดันโลหิตขึ้น สูง รูม่านตาขยาย ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ลดความอยากอาหาร และลดการตอบสนองทางเพศ โดยหากใช้โคเคนหรือเมทแอมเฟตามีนแบบสูดทางจมูกอาจทำให้ประสาทรับกลิ่นเสียหาย เลือดกำเดาไหลเรื้อรัง มีน้ำมูกไหลเรื้อรัง และหากใช้แบบสูบอาจทำให้เกิดอาการไอ เสียงแหบ และกระหายน้ำได้ง่าย เมื่อใช้สารกระตุ้นประสาทจำพวกเมทแอมเฟตามีนหรือโคเคนเกินขนาด อาจทำให้เกิดอาการชัก ไข้ขึ้นสูง เกิดโรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ สารกระตุ้นประสาทบางตัว สามารถทำให้เกิดอาการทางจิตประสาท เช่น ความเชื่อหลงผิด (delusion) หวาดระแวง (paranoid delusion) ได้ยินเสียงหูแว่ว (auditory hallucination) หรือ เห็นภาพหลอน (visual hallucination) ได้ โดยเฉพาะเมทแอมเฟตามีน และโคเคน ผลจากการศึกษาโดยกลุ่มผู้วิจัยจาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและเยล พบว่า การใช้โคเคนทำให้เกิดอาการจิตหวาดระแวงในผู้ใช้บางราย โดยการเกิดอาการดังกล่าวอาจเป็นผลมาจากลักษณะทางพันธุกรรมบางประการ ส่วนสารเมทแอมเฟตามีนพบในกลุ่มผู้ใช้สารได้สูงราวร้อยละ 40 ของผู้ใช้สาร โดยมีปัจจัยด้านพันธุกรรม ปริมาณการใช้ ความรุนแรงของการติดสาร อายุน้อยขณะเริ่มใช้สาร การใช้สารเสพติดอื่นร่วม รวมไปถึงบุคลิกภาพบางชนิด เช่น บุคลิกภาพแบบอันธพาล อันเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดอาการจิตหวาดระแวงจากการใช้สารเมทแอมเฟตามีนได้

เมื่อใช้สารกระตุ้นประสาทเหล่านี้ไประยะยาวจะทำให้เกิดโรคทางระบบหัวใจ และไหลเวียน โลหิตเฉียบพลัน เช่น หัวใจวาย หรือ โรคหลอดเลือดสมอง รวมถึงลำไส้ขาดเลือด นอกจากนี้การ ใช้สารกระตุ้นประสาทอย่างยาวนานอาจทำให้เกิดการติดเชื้อที่อวัยวะต่างๆ ได้โดยง่าย เช่น การ ติดเชื้อที่ผิวหนังจากการเกา โรคปอดบวม ระบบหายใจล้มเหลว อาจเกิดการติดเชื้อที่หัวใจจาก การฉีดสาร ตลอดไปจนถึงอาจมีฟันผุจากผลของสารที่ทำให้ปากแห้งและฤทธิ์ที่เป็นกรดจากการ สูดสารเข้าทางจมูกและเข้าสู่ปากในผู้ใช้ที่มีสุขอนามัยของช่องปากที่ไม่ดี  โดยสารอาจทำให้เกิด การกัดฟันมากขึ้น เรียกลักษณะฟันที่เสียไปจากการใช้โคเคนนี้ว่า ฟันโคเคน (cracked teeth) นอกจากนี้ หากหญิงตั้งครรภ์ใช้สารกระตุ้นประสาทจะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดรกแยกตัว และตกเลือด คลอดก่อนกำหนด ทารกมีความผิดปกติแรกคลอด เช่น เพดานโหว่ เท้าปุก หัวใจ ผิดปกติ รวมถึงอาจทำให้เกิดเลือดออกในสมองได้ เป็นต้น

สำหรับการใช้สารเมทแอมเฟตามีนระยะยาวจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการทำงานของ สมอง โดยทำให้สมองทำงานลดลงโดยเฉพาะสมองส่วนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหว และ ทำให้การเรียนรู้ด้านภาษาพูดเสียไป  และพบการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างของสมองร่วมด้วย โดยเฉพาะสมองส่วนที่เกี่ยวกับอารมณ์และความจำ โดยการเปลี่ยนแปลงนี้ยังคงอยู่ได้นานแม้ หลังจากหยุดการเสพสารได้แล้ว ทั้งนี้ เมทแอมเฟตามีน มีความเป็นพิษต่อระบบประสาท (neurotoxicity) ได้มากกว่าโคเคน ส่วนหนึ่งอาจเพราะเมทแอมเฟตามีนทำให้เกิด oxidative stress ซึ่งเป็นพิษต่อเซลล์ประสาทได้ 


อาการถอนสารกระตุ้นประสาท

การเสพสารกระตุ้นระยะยาวจะทำให้เกิดอาการถอนสารได้เมื่อลดปริมาณ หรือหยุดการ เสพสารอย่างทันทีทันใด อย่างไรก็ตามอาการถอนสารกระตุ้นนี้ ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย แต่จะ ทำให้เกิดความรู้สึกไม่สุขสบาย ทำให้อยากสาร และทำให้กลับไปใช้สาร สามารถแบ่งอาการถอน สารกระตุ้นเป็นสามระยะ ดังนี้ 

ทันทีหลังหยุดสาร จะทำให้เกิดการขาดพลังงาน รู้สึกอ่อนแรงอย่างมาก ต้อง การนอนตลอดเวลา บางครั้งมีภาวะซึมเศร้าร่วมด้วย
หลังหยุดสารภายใน 3 วัน อาการอ่อนแรงจะค่อยๆ ลดลง และมีความรู้สึก กระปรี้กระเปร่ากลับคืนมา
หลังหยุดสารภายใน 7 วัน จนถึงสัปดาห์หรือเป็นเดือน จะเกิดอาการอยากใช้ สารกระตุ้นอย่างรุนแรง มีความอยากอาหาร และรู้สึกว่าตนมีพลังลดลงอีกครั้ง ไม่ค่อยมีความสุขกับกิจกรรมตามที่เคยเป็น บางรายอาจมีอารมณ์ซึมเศร้า ขาด แรงจูงใจ ฝันร้าย นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย เป็นต้น ช่วงเวลาดังกล่าวจึง จัดเป็นช่วงวิกฤติที่ผู้ใช้สารที่เลิกได้แล้วอาจกลับไปใช้สารซ้ำอีกครั้ง


---------------------------------------

ดัดแปลงและคัดลอกจาก Kalayasiri R. Addiction & Psychiatric Complications. Bangkok: Department of Psychiatry, Faculty of Medicine, Chulalongkorn University; 2018 

---------------------------------------