สารเสพติดมีอะไรบ้าง

เมื่อ : 2019-10-02 13:18:14 อ่านแล้ว: 16929 ครั้ง
ชื่อไฟล์ที่สามารถดาวโหลดได้ (คลิกเพื่อดาวน์โหลด)

โดย รศ.พญ.รัศมน กัลยาศิริ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผู้จัดการศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.)

สารเสพติด เป็นสารที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทในส่วนของระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้ เกิดการเปลี่ยนแปลงอารมณ์ ความคิด และพฤติกรรมของผู้ที่ใช้สาร โดยมีกลไกการออกฤทธิ์ที่ สำคัญที่ทำให้เกิดความอยากเสพและการใช้สารนั้นซ้ำๆ จนหยุดเสพหรือลดปริมาณการใช้ไม่ได้ แม้ว่าผู้ใช้สารนั้นจะมีความต้องการอยากเลิกหรือลดการใช้สารเพียงใดก็ตาม สามารถแบ่งกลุ่ม สารเสพติดเป็นกลุ่มได้หลากหลาย โดยแบ่งได้ตามกลไกการออกฤทธิ์ สารเคมีที่เป็นองค์ประกอบ หรือตามแต่ที่กฎหมายบัญญัติ ทั้งนี้ สามารถแบ่งสารตามผลและกลไกการออกฤทธิ์ที่มีต่อจิต ประสาทออกเป็นหมวดหมู่ ได้แก่ สารกดประสาท สารกระตุ้นประสาท สารหลอนประสาท สารโอปิออยด์ และสารอื่นๆ ที่มีลักษณะเฉพาะตัว หรือมีการออกฤทธิ์แบบผสมผสาน เป็นต้น การแบ่งสารเสพติดออกเป็นประเภทต่างๆ นั้นจะทำให้เข้าใจสารเสพติดแต่ละชนิดได้ดี และทำให้สามารถคาดเดาผลการออกฤทธิ์เมื่อใช้สารเสพติดนั้นๆ ได้ นำไปสู่การเฝ้าระวังผลทางคลินิก และ การวางแผนการรักษาได้ดียิ่งขึ้น

สารกดประสาท (depressants)

สารกลุ่มนี้ออกฤทธิ์กดการทำงานของระบบประสาทส่วนกลางเป็นหลัก ทำให้จิตประสาท ของผู้ที่ใช้สารเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางช้าลง เช่น ระดับการรับรู้สติสัมปชัญญะลดลงจาก สภาวะที่เป็นอยู่เดิม  

สารกระตุ้นประสาท (stimulants)

สารกระตุ้นประสาทออกฤทธิ์โดยการเพิ่มการทำงานของสารสื่อประสาทโดปามีน (dopamine) เป็นหลัก 

สารหลอนประสาท (hallucinogens)

สารหลอนประสาทเป็นสารที่ออกฤทธิ์ทำให้เกิดประสาทการรับรู้มีการเปลี่ยนแปลง มี อาการหลอนทางระบบประสาทการรับรู้ เช่น ทางการมองเห็น การได้ยิน การรับรส รวมถึงการ สัมผัสรับรู้ตัวเอง และการรับรู้สิ่งนอกตัว 

สารโอปิออยด์ (opioids)

สารโอปิออยด์เป็นสารที่ออกฤทธิ์ต่อตัวรับโอปิออยด์ (opioid receptor) ในสมองโดย ตรง โดยตัวรับโอปิออยด์จะมีอยู่ในอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย เช่น ที่สมอง ไขสันหลัง และระบบ ทางเดินอาหาร ซึ่งตัวรับนี้มีอยู่ทั้งหมดสี่ชนิด คือ เดลต้า (delta; δ) แคปป้า (kappa; κ) มิว (mu; μ) และ นอซิเซปติน (nociception) เมื่อสมองได้รับโอปิออยด์จะทำให้เกิดความรู้สึกเคลิบเคลิ้ม และมีฤทธิ์ลดอาการปวด สารโอปิออยด์จึงสามารถถูกจำแนกอยู่ในสารจำพวกกดประสาทได้ด้วย 

สารอื่นๆ หรือที่ออกฤทธิ์ผสมผสาน

สารเสพติดที่แบ่งชนิดตามกลไกการออกฤทธิ์ของสารนั้น จะสามารถทำให้ทราบได้ว่า สารชนิดใดจะเกิดผลกระทบต่อสมองและร่างกายไปในทิศทางใด โดยอาจนำสารนั้นมาใช้ ประโยชน์ทางการรักษาจากการทราบประเภทของสาร ในขณะเดียวกันผลต่างๆ จะทำให้สามารถ เชื่อมโยงไปสู่อาการที่พบเมื่อผู้ใช้สารมาเข้ารับการรักษาขณะใช้สารระยะต่างๆ เช่น ขณะเป็นพิษ (intoxication) ขณะถอนสาร (withdrawal) หรือการใช้สารจนเกิดผลกระทบทางจิตประสาท และ ทางกายในระยะยาว ทำให้สามารถเลือกวิธีการบำบัดรักษาได้ตรงกับตัวอาการและชนิดของสาร แต่ละประเภทได้ต่อไป


-------------------------------------------------------------------

ดัดแปลงและคัดลอกจาก Kalayasiri R. Addiction & Psychiatric Complications. Bangkok: Department of Psychiatry, Faculty of Medicine, Chulalongkorn University; 2018 

-------------------------------------------------------------------