สารโอปิออยด์ (opioids)

เมื่อ : 2019-10-02 13:57:44 อ่านแล้ว: 61302 ครั้ง
ชื่อไฟล์ที่สามารถดาวโหลดได้ (คลิกเพื่อดาวน์โหลด)

โดย รศ.พญ.รัศมน กัลยาศิริ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผู้จัดการศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.)


กลไกการออกฤทธิ์ของสารโอปิออยด์

สารโอปิออยด์เป็นสารที่ออกฤทธิ์ต่อตัวรับโอปิออยด์ (opioid receptor) ในสมองโดย ตรง โดยตัวรับโอปิออยด์จะมีอยู่ในอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย เช่น ที่สมอง ไขสันหลัง และระบบ ทางเดินอาหาร ซึ่งตัวรับนี้มีอยู่ทั้งหมดสี่ชนิด คือ เดลต้า (delta; δ) แคปป้า (kappa; κ) มิว (mu; μ) และ นอซิเซปติน (nociception) เมื่อสมองได้รับโอปิออยด์จะทำให้เกิดความรู้สึกเคลิบเคลิ้ม และมีฤทธิ์ลดอาการปวด สารโอปิออยด์จึงสามารถถูกจำแนกอยู่ในสารจำพวกกดประสาทได้ด้วย โอปิออยด์สามารถนำมาใช้ทางการแพทย์ได้ เช่น มอร์ฟีน (morphine) เมธาโดน (methadone) เฟนตานีล (fentanyl) เมพเพริดีน (meperidine) ทรามาดอล (tramadol) เป็นต้น เพื่อบรรเทาอาการปวด และสารยังมีฤทธิ์ช่วยบรรเทาอาการท้องเสีย หรืออาการไอได้ นอกจากนี้เมธาโดนเองสามารถนำมาใช้รักษาการติดสารโอปิออยด์ชนิดอื่นได้ เนื่องจากมีค่าครึ่งชีวิตที่ยาว ทำให้อาการถอนไม่รุนแรงเท่าโอปิออยด์อื่น ทั้งนี้ โอปิออยด์สามารถนำเข้าสู่ร่างกายได้ ทั้งแบบสูบ สูดทางจมูก หรือฉีดเข้าเส้นเลือดหรือกล้าม และใช้ได้ในรูปแบบกินทางปาก โดยยาโอปิออยด์ที่ใช้เพื่อรักษาอาการปวดดังข้างต้นอาจถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด เช่น ยาออกซีคอนติน (oxycontin) ถูกผู้ใช้สารนำเอาผงในแคปซูลของยามาเจือจางกับน้ำและฉีดเข้าสู่ร่างกาย หรือมีการนำเอาแผ่นแปะที่มียาโอปิออยด์มาตัดเปิดออกเพื่อนำไปใช้ฉีด เป็นต้น 


สารที่อยู่ในกลุ่มโอปิออยด์

สารในกลุ่มนี้มีหลายชนิดสามารถหาได้จากพืชตามธรรมชาติหรือสังเคราะห์ รวมทั้งมีใน รูปแบบกึ่งสังเคราะห์ ดังนี้

โอปิออยด์จากพืชตามธรรมชาติ เช่น จากพืชฝิ่น หรือ โอเปียม (opium) ซึ่ง เป็นพืชที่สามารถนำมาสกัดได้โอปิออยด์ตามธรรมชาติ มีผลิตอยู่ในรูปแบบ แท่ง หรือก้อนสีดำหรือน้ำตาลคล้ายทาร์ เมื่อนำฝิ่นมาสกัดแล้วจะได้สารอัลคาลอยด์สองชนิดที่สำคัญคือ มอร์ฟีน (morphine) ซึ่งหาได้ในรูปแบบ ของเหลวเพื่อใช้ฉีดหรืออยู่ในรูปแบบเม็ด ซึ่งใช้เป็นยาแก้ปวด และ โคเอดีน (codeine) ซึ่งใช้เป็นยาแก้ไอ

โอปิออยด์กึ่งสังเคราะห์ เช่น เฮโรอีน (heroin) จะขายในรูปแบบผงสีขาว หรือ น้ำตาล ซึ่งมีฤทธิ์แรงกว่ามอร์ฟีนถึง 5 – 8 เท่า และออกฤทธิ์ได้นานราว 3 – 4 ชั่วโมง จัดเป็นสารกึ่งสังเคราะห์ กล่าวคือสามารถสังเคราห์ได้จากฝิ่นนั่นเอง นอกจากนี้ยังมีไฮโดรโคโดน (hydrocodone) ออกซีโคโดน (oxycodone) ไฮโดรมอร์โฟน (hydromorphone) ที่จัดเป็นสารกึ่งสังเคราะห์เช่นกัน

โอปิออยด์สังเคราะห์ ได้แก่ เมธาโดน (methadone) เฟนตานีล (fentanyl) และเมพเพริดีน (meperidine) หรือเพธิดีน (pethidine) ที่ผลิตได้จากการ สังเคราะห์เท่านั้น ส่วนใหญ่สารสังเคราะห์เหล่านี้ จะอยู่ในรูปยาแบบเม็ด หรือแบบแคปซูล โดยเมธาโดนเป็นยาที่อยู่ในรูปแบบเม็ดและแบบน้ำไว้ สำหรับรับประทานได้ 


ผลของสารโอปิออยด์ต่อจิตใจ

มีการนำสารโอปิออยด์มาใช้ในทางที่ผิด เพื่อต้องการฤทธิ์ของสารกลุ่มนี้ในการทำให้รู้สึก เคลิบเคลิ้มถึงขีดสุด สุขสบาย ช่วยบรรเทาอาการปวด รู้สึกสงบ เหมือนอยู่ในความฝัน แต่การใช้ สารนี้ มีผลข้างเคียงได้เช่นกัน เช่น ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน หายใจช้า ตาพร่ามัว รูม่านตา เล็ก วิงเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ เหมือนจะเป็นลม มีผื่นคัน หน้าแดง ปากแห้ง อ่อนแรง ไม่อยาก อาหาร และหลงลืม และเมื่อใช้ไประยะเวลานานจะทำให้เกิดการติดเชื้อที่ผิวหนังหรือลิ้นหัวใจจาก การฉีดโดยใช้เข็มไม่สะอาด อาจทำให้เกิดโรคตับ โรคไต โรคปอด เช่น ปอดบวม ท้องผูกเรื้อรัง และหากใช้ในหญิงตั้งครรภ์อาจทำให้เกิดการแท้งบุตรได้ โดยทารกที่เกิดมาอาจมีน้ำหนักตัวน้อย และมีอาการถอนหลังคลอดได้นานถึง 5 – 8 สัปดาห์ และทารกอาจถึงแก่ความตายได้ ซึ่งแตกต่างจากผู้ใหญ่ที่อาการถอนโอปิออยด์จะไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต 


อาการถอนสารโอปิออยด์

เมื่อผู้ใช้สารโอปิออยด์หยุดหรือลดปริมาณสารโอปิออยด์หลังจากใช้เป็นประจำมาระยะหนึ่งแล้ว อาจมีอาการกระสับกระส่าย ปวดกล้ามเนื้อ และกระดูกอย่างรุนแรง เป็นตะคริว เหงื่อออก น้ำมูกน้ำตาไหล รูม่านตาขยาย ชีพจรเต้นเร็ว คลื่นไส้ ถ่ายท้องเสีย นอนไม่หลับ เป็นไข้ หนาวสั่น ขนลุก เป็นต้น อาการถอนสารโอปิออยด์อาจเริ่มได้ตั้งแต่ไม่กี่ชั่วโมงหลังจากเสพสารครั้งสุดท้าย และขึ้นถึงสูงสุดใน 2 - 3 วัน โดยส่วนใหญ่อาการจะลดลงหลังผ่านไปหนึ่งสัปดาห์ แต่บางราย อาจมีอาการได้นานหลายเดือน โดยอาการถอนโอปิออยด์นี้เป็นอาการที่ทรมานแต่ไม่อันตรายถึงชีวิต ในทางกลับกัน การใช้โอปิออยด์กลับมีอันตรายถึงแก่ชีวิตเมื่อใช้เกินขนาด (overdose) โดยอาการเมื่อใช้เกินขนาด ได้แก่ ผิวหนังเย็น เล็บและริมฝีปากม่วงจากการขาดออกซิเจน กล้ามเนื้ออ่อนแรง หายใจช้า มีของเหลวในปอด (pleural effusion) หัวใจเต้นช้าลง และมีความดันโลหิตต่ำ รูม่านตาเล็ก ไม่รู้สึกตัว หายใจช้า กดการหายใจ เป็นต้น จนอาจถึงแก่ความตายได้จากการใช้สารเกินขนาด


---------------------------------------

ดัดแปลงและคัดลอกจาก Kalayasiri R. Addiction & Psychiatric Complications. Bangkok: Department of Psychiatry, Faculty of Medicine, Chulalongkorn University; 2018 

---------------------------------------