สารกดประสาท (depressants)

เมื่อ : 2019-10-02 13:26:10 อ่านแล้ว: 101794 ครั้ง
ชื่อไฟล์ที่สามารถดาวโหลดได้ (คลิกเพื่อดาวน์โหลด)

โดย รศ.พญ.รัศมน กัลยาศิริ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผู้จัดการศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.)

กลไกการออกฤทธิ์ของสารกดประสาท

    สารกลุ่มนี้ออกฤทธิ์กดการทำงานของระบบประสาทส่วนกลางเป็นหลัก ทำให้จิตประสาท ของผู้ที่ใช้สารเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางช้าลง เช่น ระดับการรับรู้สติสัมปชัญญะลดลงจาก สภาวะที่เป็นอยู่เดิม  เกิดความรู้สึกง่วงอยากนอน หนึ่งในกลไกสำคัญในการออกฤทธิ์ คือ การออก ฤทธิ์ที่ตัวรับสารสื่อประสาทกาบา (GABA – gamma amino butyric acid) ชนิดเอ และ/หรือ บี ในสมองของผู้เสพสาร


สารที่อยู่ในกลุ่มสารกดประสาท

    สารในกลุ่มนี้ ได้แก่ 

แอลกอฮอล์ (alcohol) เช่น เอธานอล (ethanol) เป็นสารออกฤทธิ์สำคัญของเครื่อง ดื่มแอลกอฮอล์ เช่น เบียร์ สุรากลั่น ไวน์ เป็นต้น โดยเบียร์นั้นเกิดจากการหมักข้าว บาร์เลย์หรือธัญพืช ซึ่งหากนำไปกลั่นจะได้สุรากลั่น โดยหากเครื่องดื่มที่กลั่นได้มี แอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบอย่างน้อยร้อยละ 20 และไม่ได้นำไปทำให้มีรสหวาน จะถูกเรียกว่าสปิริต (spirit) เช่น วิสกี้ (whiskey) วอดก้า (vodka) ซึ่งมีแอลกอฮอล์ ประมาณร้อยละ 40  ส่วนคำว่าลิเคอร์ (liquor) เป็นสุรากลั่น เช่นกัน เป็นคำที่นิยม ใช้ทางอเมริกาเหนือ สำหรับไวน์เกิดจากการหมักผลองุ่นหรือผลไม้ชนิดอื่น โดยใช้ ระยะเวลาในการหมักนานกว่าเบียร์ทำให้ได้ปริมาณแอลกอฮอล์ที่สูงกว่าเบียร์อยู่ที่ประมาณร้อยละ 9 ถึงร้อยละ 16 ทั้งนี้ การบอกความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ จะใช้ หน่วยเป็น % ABV (alcohol by volume) หรือสามารถบอกเป็น proof ได้ โดย proof จะมีค่าเป็นสองเท่าของ % ABV ที่อุณหภูมิ 60 องศาฟาเรนไฮท์ เช่น 80 proof เท่ากับ 40% ABV ส่วนการกำหนดจำนวนหน่วยดื่มมาตรฐาน หรือ ดริงค์ (standard drink) มีการกำหนดโดยประมาณเป็นปริมาณแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ ประมาณ 10 - 20  กรัม แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ เช่น ประเทศออสเตรเลีย กำหนดที่ปริมาณแอลกอฮอล์ 10 กรัม ขณะที่ประเทศสหรัฐอเมริกากำหนดที่ 14  กรัม และประเทศญี่ปุ่นกำหนดค่าหน่วยมาตรฐานที่ประมาณเกือบ 20 กรัม เป็นต้น โดยทั่วไปมักเทียบหน่วยดื่มมาตรฐานหนึ่งหน่วยเท่ากับเบียร์ประมาณ 1 กระป๋อง (350 มิลลิลิตร; 5% ABV) หรือ ไวน์ 1 แก้ว (150 มิลลิลิตร; 12% ABV) หรือสปิริต 1 แก้ว (44 มิลลิลิตร; 40 % ABV) 

ยากลุ่มบาร์บิทูเรต (barbiturate) เช่น ฟีโนบาร์บิทอล (phenobarbitol) เซโคนาล (seconal) หรือเหล้าแห้ง ซึ่งยาในกลุ่มนี้มีฤทธิ์ต้านอาการชัก และทำให้ง่วง แต่ไม่ นิยมนำมาใช้ในปัจจุบันมากนัก เนื่องจากมียาตัวอื่นที่ออกฤทธิ์รักษาได้ดี และไม่ เสี่ยงต่อการเสพติด  

ยากลุ่มเบนโซไดอะซีปีน (benzodiazepines) เช่น ยาไดอะซีแพม (diazepam หรือ valium®) ยาอัลพราโซแลม (alprazolam หรือ xanax®) ยาโคลนาซีแพม (clonazepam หรือ rivotril® / klonopin®) ยาคลอไดอะซีพอกไซด์ (chlordiazepoxide หรือ librium®) ยาคลอราซีเพท (clorazepate หรือ tranxene®) ยาลอราซีแพม (lorazepam หรือ ativan®) ยาฟลูไนตราซีแพม (flunitrazepam หรือ rohypnol®) เป็นต้น ยากลุ่มนี้จัดเป็นยากล่อมประสาท (tranquilizer) ซึ่งยาเหล่านี้สามารถใช้รักษาอาการทางจิตเวชและระบบประสาท บางชนิด เช่น ใช้ในระยะสั้นในการช่วยรักษาอาการนอนไม่หลับ คุมอาการในโรค กลุ่มวิตกกังวล  รักษาอาการชัก ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ทำให้สงบก่อนรับการผ่าตัด และควบคุมอาการก้าวร้าว รวมถึงใช้ในการรักษาอาการถอนแอลกอฮอล์ได้ โดย นำมาใช้ในระยะเวลาสั้นๆ และอยู่ในการควบคุมการสั่งจ่ายโดยแพทย์อย่างเคร่ง ครัด 

จีเอชบี (GHB; gamma-hydroxybutyrate) เป็นสารกดประสาทที่มีทั้งในรูปแบบ ของเหลวใส แป้งขาว ชนิดเม็ด หรือ แคปซูล

    ทั้งนี้ สารที่มีผลออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทเหล่านี้ จะถูกควบคุมการสั่งใช้ภายใต้กฎหมายที่ เกี่ยวข้อง เนื่องจากอาจมีผู้นำสารเหล่านี้ไปใช้ในทางที่ผิด เช่น นำไปใช้ในการก่ออาชญากรรม เพื่อล่อลวงเหยื่อให้มึนเมา เช่น โรฮิปนอล อัลพราโซแลม จีเอชบี เป็นต้น หรืออาจนำไปใช้เสพเพื่อ ความบันเทิงจนอาจเกิดการเสพติดสารได้ในที่สุด เป็นเหตุให้กฎหมายจำเป็นต้องออกมาตรการ ควบคุมการใช้ยาดังกล่าวอย่างเคร่งครัด 


ผลของสารกดประสาทต่อจิตใจ

    ฤทธิ์ของสารกดประสาทที่เป็นที่ต้องการสำหรับผู้เสพที่ไม่ได้มีข้อบ่งใช้ทางการแพทย์ คือ ต้องการความรู้สึกผ่อนคลาย เคลิบเคลิ้ม รู้สึกเป็นสุข ลดความวิตกกังวล มีความกล้าแสดงออก เนื่องจากสารทำให้เกิดการลดความยับยั้งชั่งใจ แต่มีผลเสียตามมาจากการใช้สารคือทำให้สูญเสีย สมาธิและความสามารถในการคิดตัดสินใจ สูญเสียความทรงจำระยะสั้น สับสน บางคนไม่มีการ ตอบสนองทางอารมณ์ กล้ามเนื้ออ่อนแรง กล้ามเนื้อขาดการประสานงาน การตอบสนองเชื่องช้า พูดไม่ชัด วิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน โดยหากใช้ระยะยาวและขนาดสูง อาจทำให้เกิดอาการซึมเศร้า นอกจากนี้ สารในกลุ่มนี้จะกดการหายใจโดยเฉพาะเมื่อใช้สารกดประสาทหลายชนิดร่วมกัน อย่าง ไรก็ตาม ผู้ใช้สารบางรายกลับเกิดผลทางตรงกันข้ามกับการกดประสาท (paradoxical effect) เมื่อใช้ขนาดสูง เช่น  เกิดอาการกระสับสระส่าย ก้าวร้าว แทนที่จะรู้สึกผ่อนคลายหรือได้ฤทธิ์ลด ความกังวลที่ทำให้สงบ

    มีการพบการใช้สารกดประสาทร่วมกับสารอื่นเพื่อเสริมหรือยับยั้งฤทธิ์สารอื่น เช่น การดื่ม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ร่วมกับยาเบนโซไดอะซีปีนเพื่อให้เกิดความรู้สึกเคลิบเคลิ้ม ซึ่งมีความเป็น อันตรายสูงเนื่องจากอาจเกิดการกดการหายใจและเสียชีวิตได้ และบางรายอาจใช้สารกดประสาท เพื่อลดหรือบรรเทาผลจากสารกระตุ้นประสาทเพื่อให้ตนเองสามารถได้พักผ่อนและนอนหลับ การ ใช้สารเพื่อให้ได้ฤทธิ์ที่ตรงกันข้ามกันนี้สามารถทำให้เกิดอันตรายได้เช่นกัน เนื่องจากอาจเกิดการ เกร็งตัวของกล้ามเนื้อหลอดเลือดหัวใจทำให้กล้ามเนื้อหัวใจเสียหาย นอกจากนี้ มีการพบผู้ใช้สาร จำพวกโอปิออยด์ที่มีการใช้สารกดประสาทนี้ร่วมด้วยเพื่อลดอาการถอนสารโอปิออยด์


อาการถอนสารกดประสาท

เมื่อลดหรือหยุดการเสพสารประเภทกดประสาทที่ใช้เป็นประจำมาเป็นระยะเวลานาน จะมี อาการถอน (withdrawal symptoms) ซึ่งจัดเป็นภาวะที่เป็นอันตรายต่อชีวิตและอาจยากต่อการ รักษา ขึ้นกับระยะเวลา ขนาด และชนิดของสารที่ใช้ อาการถอนสารกดประสาทที่พบได้บ่อย ได้แก่ มือสั่น หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง เหงื่อออก กล้ามเนื้อกระตุก เป็นตะคริว กระวน กระวาย คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ อยากเสพสาร หาวนอน การนอนเปลี่ยนแปลง ประสาท สัมผัสหลอน ชัก ซึ่งอาจมีอาการชักได้หลายครั้งและถึงแก่ชีวิตได้ ทั้งนี้ อาการถอนสามารถเกิดได้ เมื่อลดหรือหยุดการเสพสารอย่างทันทีทันใดโดยเกิดขึ้นภายใน 1 วัน หรือ บางครั้งถึง 5 วัน ขึ้นกับ ค่าครึ่งชีวิต และเภสัชจลนศาสตร์ของสารแต่ละชนิด อาการถอนอาจคงอยู่เป็นเวลานาน 7 วัน ถึง 20 วัน สำหรับสารที่ออกฤทธิ์สั้น หรือ อาจคงอยู่ได้นานถึง 28 วัน สำหรับสารที่ออกฤทธิ์ยาว ดังนั้น หากต้องการหยุดยาที่มีฤทธิ์กดประสาทที่ใช้มาเป็นระยะเวลานานควรค่อยๆ ลดขนาดลงก่อนเพื่อ หลีกเลี่ยงอาการถอนดังกล่าว สำหรับการถอนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระยะแรกมักเริ่มด้วยมือสั่น เหงื่อออกง่าย ในวันที่สองอาจมีอาการชัก และอาจถึงขั้นเพ้อไม่รู้ตัว (delirium) ที่เรียกว่า delirium tremens (DTs) ได้ในวันที่สาม โดยผู้ที่มีการติดแอลกอฮอล์สามารถเข้ารับการรักษาอาการถอน แอลกอฮอล์ดังกล่าวได้ด้วยยากลุ่มเบนโซไดอะซีปีนซึ่งเป็นยาที่มีฤทธิ์กดประสาทเช่นกัน


---------------------------------------

ดัดแปลงและคัดลอกจาก Kalayasiri R. Addiction & Psychiatric Complications. Bangkok: Department of Psychiatry, Faculty of Medicine, Chulalongkorn University; 2018 

---------------------------------------