ยุทธศาสตร์ในการดำเนินงาน
ยุทธศาสตร์ในการดำเนินงาน
การดำเนินงานของ ศศก. ในระยะนี้จะเป็นไปตามยุทธศาสตร์สามข้อที่สอดคล้องกับ วัตถุประสงค์ กรอบแนวคิด และขอบเขตการดำเนินงานของ ศศก.
ยุทธศาสตร์ที่ 1 การสร้างความรู้
มุ่งเน้นการจัดการองค์ความรู้ การศึกษาวิจัยเพื่อหาข้อมูลเชิงประจักษ์และความรู้ใหม่ ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเฝ้าระวังปัญหา การป้องกัน บำบัดรักษา และฟื้นฟูสุขภาพของเด็กและเยาวชนผู้ใช้สารเสพติดหรือมีพฤติกรรมเสพติดในประเทศไทย
ยุทธศาสตร์ที่ 2 การสื่อสารสังคมและนโยบาย
ยุทธศาสตร์นี้ประกอบด้วย การส่งมอบข้อมูลวิชาการไปสู่กลุ่มเป้าหมายที่สำคัญอย่างเป็นประจำและต่อเนื่อง ได้แก่ ผู้กำหนดนโยบาย ผู้ปฏิบัติงานภาครัฐ ผู้ทำงานภาคประชาสังคม สื่อมวลชน นักวิชาการ และประชาชนทั่วไป โดยอาศัยกลไกทั่วไปในสถานการณ์ปกติ เช่น การจัดทำฐานข้อมูลวิชาการ บทความ การเผยแพร่ข้อมูล ข้อสนเทศ ความรู้ทางเวบไซด์และเฟสบุ๊ก และการแถลงข่าว และกลไกแบบจำเพาะเจาะจงเพื่อผลักดันกระบวนการนโยบาย หรือในสถานการณ์เร่งด่วน เช่น ข่าวร้อนที่น่าสนใจในสังคม หรือมีความต้องการข้อมูลข้อสนเทศเร่งด่วนจากองค์กรสำคัญของประเทศ โดยการให้ข้อมูลเฉพาะกลุ่ม และการจัดแถลงข่าวสำคัญโดยผู้ที่มีข้อมูลอยู่แล้ว
ยุทธศาสตร์ที่ 3 การสร้างเครือข่ายและพัฒนาให้เข้มแข็ง
มุ่งเน้นการสร้างเครือข่ายและพัฒนาศักยภาพบุคลากรที่เกี่ยวข้องแต่ละระดับให้มีความรู้และทักษะในการทำงานวิจัย การสนับสนุนและผลักดันนโยบาย (policy advocacy) รวมทั้งการเขียนบทความตีพิมพ์ หรือการนำเสนอในเวทีระดับชาติหรือนานาชาติ การเขียนบทความสื่อสารเชิงนโยบายและสังคม การพัฒนางานด้านการป้องกันดูแลและบำบัดรักษา ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสารเสพติดและพฤติกรรมเสพติดในเด็กและเยาวชน รวมทั้งขยายเครือข่ายนักวิชาการ/นักวิจัยด้านสารเสพติดทั้งในและต่างประเทศ