ยาเสพติดที่อันตรายที่สุดในโลก

เมื่อ : 2021-12-07 13:16:31 อ่านแล้ว: 50998 ครั้ง
ชื่อไฟล์ที่สามารถดาวโหลดได้ (คลิกเพื่อดาวน์โหลด)

‼ ยาเสพติดที่อันตรายที่สุดในโลก ‼

โดย ดร.นพ.มูฮัมมัดฟาห์มี ตาเละ

------------------------------

ขึ้นหัวว่ายาเสพติด แน่นอนว่าใครได้ยินคำนี้ สมองจะเชื่อมโยงกับความรู้สึกทางด้านลบ และต่อด้วยการนำภาพที่เลวร้ายของสารเสพติดเข้ามาในโสตความคิดของเรา ผมเชื่อว่าหากคนทั่วไปที่เติบโตมาในสังคมปกติ ครั้งหนึ่งในชีวิตคงเคยได้ยินคำว่ายาเสพติด ไล่ตั้งแต่คนในเมืองกรุงไปจนถึงชุมชนชนบทสุดขอบชายแดน คำคำนี้ถือเป็นคำที่ใช้อย่างแพร่หลายมาก

พ่อแม่ส่วนมากพูดให้ลูกห่าง ๆ มันไว้ ครูทุกคนต้องย้ำเตือนห้ามไม่ให้ลูกศิษย์ข้องแวะกับมัน เหล่านี้เป็นช่องทางหลักที่ผู้คนกล่าวถึงมัน เป็นต้น

ในจำนวนสารเสพติดหลาย ๆ ชนิดที่เรารู้จัก หากให้เลือกสารที่คิดว่าสร้างอันตรายให้มนุษยชาติมากที่สุดมาหนึ่งชนิด หลายคนคงเลือกยาเสพติดที่คุ้นหู และได้ยินบ่อย ๆ ตามข่าวอาชญากรรม เช่น เฮโรอีน ยาบ้า ยาอี หรือ โคเคน ความเข้าใจว่าสารเสพติดชื่อคุ้นหูเหล่านี้เป็นสารอันตรายรุนแรงคงไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะมันก็เป็นอันตรายจริงและเหตุการณ์เรื่องคนใช้เฮโรอีนเกินขนาดจนตาย ใช้เฮโรอีนจนเกิดการแพร่โรคที่น่าสะพรึงอย่างเอชไอวี หรือใช้ยาบ้าจนคลุ้มคลั่งทำร้ายผู้คน ทำลายทรัพย์สิน หรือปาร์ตี้ยาไอซ์ยาอี ทำให้เกิดการทะเลาะวิวาท การคุกคามทางเพศ เป็นข่าวที่เจอได้บ่อย และสร้างภาพจำที่รุนแรงของยาเสพติดเหล่านี้ โดยตัวมันเองก็ไม่ได้มีการนำมาใช้เป็นประโยชน์อื่นใดที่เห็นได้ชัด

แต่กระนั้นก็ตาม หากใช้เพียงความรู้สึกมาตัดสินแล้ว โลกใบนี้ก็คงไม่มีจุดสิ้นสุด หากเป็นเรื่องที่ไม่มีอันตรายอะไรก็คงไม่เป็นไร แต่นี่เป็นเรื่องของสิ่งที่ทำลายชีวิต ทรัพย์สิน และความสงบของสังคม “รัฐ” ใด ๆ ก็ตามก็ต้องสร้างกรอบกติกาและกฎหมายเข้ามาดูแลจัดการเรื่องเหล่านี้ การตัดสินใจว่าจะทุ่มงบประมาณ หรือ สรรพกำลังของรัฐในการลดปัญหาที่เกิดจากสิ่งใดก็ตาม รัฐก็ต้องมีหลักการที่จะเลือกทำสิ่งเหล่านั้น จึงเป็นที่มาของการจัดอันดับสารเสพติดที่อันตรายต่อมนุษยชาติที่สุดขึ้น

คำถามที่ว่านี้นักวิชาการด้านนโยบายสารเสพติด และ ผู้เชี่ยวชาญในด้านนี้เริ่มตั้งขึ้น และคิดถึงผลกระทบตามมาของการใช้สารเสพติด งานตีพิมพ์ในเรื่องนี้ที่เป็นบรรทัดฐานในการประเมินที่ดี มาจากกลุ่มนักวิชาการด้านนโยบายสารเสพติดของสหราชอาณาจักร นำโดย Prof. David J. Nutt ได้ตีพิมพ์กระบวนการคัดเลือกและจัดอันดับดังกล่าวในวารสาร The LANCET ในปี 2010 คณะทำงานของเขาตั้งคำถามเดียวกันกับกลุ่มผู้ทำงานด้านนโยบายยาเสพติดก่อนหน้านี้ว่า หากเราจะวัดระดับความรุนแรงของยาเสพติดสักชนิดหนึ่ง เราควรจะวัดจากอะไรบ้าง แน่นอนว่าผลที่เกิดขึ้นส่วนแรกเลย คือ ผลที่เกิดขึ้นต่อผู้ใช้สาร แต่ขณะเดียวกัน การใช้สารเสพติดนั้นผลกระทบของมันไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับผู้ใช้ ยังมีคนอีกจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม และ แม้กระทั่งระดับชุมชน ไปจนรัฐ ก็ได้รับผลกระทบจากการใช้สารเสพติดแต่ละชนิดเช่นกัน ดังนั้นหากจะวัดว่าสารเสพติดตัวไหนทำร้ายมนุษยชาติมากที่สุด ก็คงต้องเอาส่วนผลกระทบด้านลบที่เกิดจากผู้ใช้ และ สังคมส่วนอื่นที่มีทั้งผู้ใช้และผู้ไม่ใช้อยู่ร่วมกัน มาเป็นเกณฑ์ในการตัดสิน

หลักเกณฑ์ของการแบ่งความอันตรายของสารเสพติดแต่ละชนิด แบ่งออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ ๆ คือ 1. อันตรายต่อผู้ใช้ และ 2. อันตรายต่อผู้อื่นโดยในส่วนของอันตรายต่อผู้ใช้ ก็แยกออกเป็นดังนี้

1.1 อันตรายต่อร่างกาย ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ 

  • อันตรายของตัวสารที่มีต่อการเสียชีวิตโดยตรง เช่น การใช้เกินขนาด จนทำให้เกิดการเสียชีวิต พบได้ในกลุ่มสารเสพติดชนิด opioid เช่น เฮโรอีน มอร์ฟีน ฝิ่น เป็นต้น
  • อันตรายของตัวสารที่มีต่อการเสียชีวิตโดยอ้อม ทำให้ผู้ใช้มีอายุขัยเฉลี่ยน้อยลง เช่น การใช้แอลกอฮอล์เพิ่มโอกาสในการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน การใช้เฮโรอีนแบบฉีดเข้าเส้นเลือดทำให้เป็นโรคเอดส์ การสูบบุหรี่เป็นเวลานานทำให้เป็นโรคมะเร็งหลายชนิดและท้ายที่สุดนั้นจะทำให้เสียชีวิตก่อนวัยอันควร  
  • อันตรายของตัวสารที่มีต่อการทำลายร่างกายโดยตรง เช่น การใช้แอลกอฮอล์ต่อเนื่องทำให้ตับเสื่อมสภาพ การใช้สารเสพติดแบบฉีดเข้าเส้นเลือดทำให้เกิดการติดเชื้อในลิ้นหัวใจ การใช้โคเคนหรือแอมเฟตามีนในระยะเวลานานทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับกล้ามเนื้อหัวใจ เป็นต้น
  • อันตรายของตัวสารที่มีต่อการทำลายร่างกายโดยอ้อม เช่น การติดเชื้อจากการใช้เข็มร่วมกัน การมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ได้ตั้งใจหลังการใช้สารเป็นต้น

1.2 อันตรายต่อความคิดและสติปัญญาของผู้ใช้

  • ฤทธิ์การเสพติดของตัวสาร หมายถึง ภาวะที่ผู้ใช้ต้องพึ่งพาสารเสพติดชนิดนั้น ๆ เมื่อมีอาการเสพติดไปแล้ว ซึ่งแต่ละชนิดมีความแตกต่างกัน ผู้ที่ติดบุหรี่สามารถใช้ชีวิตอย่างปกติได้ และมีโอกาสเลิกได้ง่ายกว่า เมื่อเทียบกับผู้ใช้เฮโรอีนที่หากเสพติดแล้วจะมีความอดทนต่ออาการขาดยาได้น้อยมาก และโอกาสในการหยุดใช้อย่างถาวรนั้นน้อยกว่าสารเสพติดอื่น ๆ ทุกชนิด
  • อันตรายของตัวสารที่มีผลต่อระบบจิตประสาทโดยตรง เช่น การใช้สารเสพติดกลุ่มแอมเฟตามีนจะทำให้เกิดโรคจิตเภท หรืออาการเมาจากฤทธิ์ยา ซึ่งมีในสารเสพติดทุกชนิด เป็นต้น
  • อันตรายของตัวสารที่มีผลต่อจิตประสาทโดยอ้อม การใช้สารเสพติดเป็นเวลานาน ๆ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านอารมณ์ ความรู้สึก รูปแบบการใช้ชีวิต และสติปัญญาของผู้ใช้ 

1.3 อันตรายต่อผู้ใช้ในมิติด้านสังคมของผู้ใช้

  • ความสามารถในการทำให้สูญเสียงานและวิถีชีวิตปกติของผู้ใช้ เช่น หน้าที่การงาน ที่พักอาศัย คุณภาพชีวิตทั่วไป การอยู่ในระบบศึกษาและสถานที่ทำงานของผู้ใช้ยา 
  • ความสามารถในการทำให้สูญเสียความสัมพันธ์ระหว่างผู้ใช้กับครอบครัวหรือเพื่อน

2.1 อันตรายต่อผู้อื่นในด้านกายภาพ คือการที่คนทั่วไปที่ไม่ได้ใช้สารเสพติดได้รับบาดเจ็บโดยตรงจากผู้ใช้สารเสพติด เช่น อุบัติเหตุจราจร การบาดเจ็บที่เกิดจากการชกต่อย การได้รับบาดเจ็บจากการสัมผัสของเสียจากการใช้สารเสพติด เช่น เข็มสำหรับฉีดเฮโรอีน หรือได้รับเชื้อโรคติดต่อทางเลือดจากผู้ใช้สารเสพติด 

2.2 อันตรายต่อผู้อื่นในด้านสังคม

  • อาชญากรรม เช่น การใช้สารเสพติดชนิดนั้น ๆ ทำให้ภาพรวมของอาชญากรรมในสังคมที่เพิ่มขึ้น (ไม่ใช่ระดับปัจเจกบุคคล)  
  • ผลกระทบทุกรูปแบบของสารเสพติดชนิดนั้น ๆ ต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การผลิตแอมเฟตามีนและโคเคนทำให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม การใช้เฮโรอีนแบบฉีดเข้าเส้นเลือดทำให้เกิดขยะติดเชื้อซึ่งเป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมเช่นกัน  
  • สถาบันครอบครัว การใช้สารเสพติดชนิดนั้น ๆ ทำให้เกิดผลกระทบต่อสถาบันครอบครัวในรูปแบบต่าง ๆ เช่น คุณภาพชีวิตโดยรวมของสมาชิกในครอบครัว การใช้ความรุนแรงต่อสมาชิกในครอบครัว เด็กถูกทอดทิ้ง อัตราหย่าร้างจากปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัว เป็นต้น
  • ปัญหาระหว่างประเทศ เช่น การส่งออกและนำเข้าสารเสพติด ทำให้เกิดปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ การลักลอบขนส่งสิ่งผิดกฎหมาย การเกิดองค์กรอาชญากรรมที่สามารถปฏิบัติการระดับนานาชาติได้ รวมไปถึงการทำลายสิ่งแวดล้อมขนาดใหญ่ ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศที่กระทบต่อหลายชาติ เป็นต้น
  • ต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์ที่สังคมแบกรับ ค่าใช้จ่ายในการป้องกันและแก้ไขปัญหาสารเสพติดที่ดำเนินการโดยรัฐบาลนั้นใช้ต้นทุนจากภาษีที่เก็บร่วมกันจากประชาชนทั้งประเทศ ความเสียหายทางเศรษฐกิจประกอบด้วย ค่ารักษาพยาบาล ค่าดำเนินการทางอาญา ค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจกรรมทางสังคมสงเคราะห์ ความเสียหายที่เกิดจากอาชญากรรม การสูญเสียการผลิตจากการสูญเสียประชากรวัยแรงงานของประเทศจากการใช้สารเสพติด เป็นต้น 
  • ผลกระทบต่อชุมชน ที่ทำให้ชุมชนมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 

เมื่อได้เกณฑ์ในการให้คะแนนตัดสินแล้ว ผู้จัดทำเกณฑ์ดังกล่าวก็ดำเนินการให้คะแนนสารเสพติดที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงสูงสุด โดยเลือกเอาสารเสพติด 20 ชนิด ที่มีใช้ในสหราชอาณาจักร ขั้นตอนของการให้คะแนนนั้น ก็ให้ผู้เชี่ยวชาญมาหารือกัน และถกเถียงกันก่อนจะให้แต่ละคนให้คะแนนเป็นตัวเลข หลังจากนั้นก็นำคะแนนของผู้เชี่ยวชาญแต่ละท่านกลับมารวบรวมอีกครั้ง และวิเคราะห์ผลทางสถิติ เพื่อขจัดความแปรปรวนของข้อมูล 

ผลที่ได้กลายเป็นว่าสารเสพติดที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงมากที่สุด กลับไม่ใช่โคเคน หรือ เฮโรอีน อย่างที่คนปกติทั่วไปเข้าใจ แม้ว่าสารเสพติดทั้งสองชนิดนี้จะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อผู้ใช้สูงที่สุดเมื่อเทียบกับสารเสพติดชนิดอื่น ๆ แต่เมื่อรวมกับคะแนนภัยต่อผู้อื่นเข้าไปด้วยแล้วกลายเป็นว่าสารเสพติดที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงมากที่สุดคือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยค่าคะแนนของแอลกอฮอล์พุ่งขึ้นอย่างมากในส่วนของภัยที่เกิดต่อผู้อื่น 

ที่แอลกอฮอล์มีภัยต่อผู้อื่นสูงกว่าสารเสพติดชนิดอื่นมากก็เนื่องจากจำนวนผู้ใช้แตกต่างกับสารเสพติดชนิดอื่น ๆ มาก ประมาณการว่าทั่วโลกนั้นมีผู้ดื่มแอลกอฮอล์อยู่ที่ 2,000 ล้านคน ในขณะที่ผู้ใช้สารเสพติดชนิดรองลงมาคือกัญชานั้นจำนวนเพียง 250 ล้านคนเท่านั้น การเป็นสารเสพติดถูกกฎหมายของแอลกอฮอล์ทำให้สถานะของสารเสพติดชนิดนี้เข้าถึงได้ง่าย เมื่อเพิ่มจำนวนผู้ใช้มากขึ้น แน่นอนว่าผลกระทบต่อผู้ที่ไม่ได้ดื่มก็มีมากขึ้นเช่นกัน 

แม้จะมีข้อโต้แย้งว่าเกณฑ์ดังกล่าวไม่ถูกต้อง อันเนื่องจากการนับรวมแอลกอฮอล์ซึ่งมีสถานะเป็นสารเสพติดถูกกฎหมาย ไปพิจารณาร่วมกับสารเสพติดชนิดอื่น ๆ ซึ่งส่วนใหญ่มีสถานะผิดกฎหมาย แน่นอนว่าเมื่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งถูกกฎหมายย่อมมีประโยชน์มากพอที่จะดำรงสถานะทางกฎหมายอย่างถูกต้องได้ และสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ถูกตีตราให้ผิดกฎหมายแล้ว ย่อมได้รับการพิจารณาอย่างถี่ถ้วนเช่นกันว่ามีโทษมากกว่าประโยชน์อย่างชัดเจน การเทียบเคียงดังกล่าวอาจจะทำให้การเปรียบเทียบผิดพลาด แต่กระนั้นก็ตามผู้เขียนบทความชิ้นนี้ยืนยันว่า การเปรียบเทียบดังกล่าวสะท้อนข้อเท็จจริงได้ดีที่สุดแล้ว เพราะสิ่งที่เขากำลังศึกษาคือ ”อันตราย”ของสารเสพติดแต่ละชนิด ไม่ได้จะศึกษา ผลรวมของ “อันตราย” และ “ประโยชน์” ของสารเสพติดแต่ละชนิด เมื่อพิจารณาเฉพาะส่วนที่เป็นภัยต่อสังคม ก็ต้องยอมรับว่าแอลกอฮอล์ที่มีจำนวนผู้ใช้มากกว่า มีมูลค่าโดยรวมทางเศรษฐกิจมากกว่า ย่อมเป็นสารเสพติดที่มีผู้ได้รับผลกระทบมากกว่า ทั้งในรูปแบบของผู้ได้รับผลกระทบทางตรง (ผู้ดื่ม) และผู้ได้รับผลกระทบโดยอ้อม 

เช่นนี้แล้วข้อมูลที่ได้รับคงจะทำให้รัฐทั้งหลายให้ความสำคัญกับการควบคุมแอลกอฮอล์มากขึ้น ควรพิจารณาถึงสิ่งนี้ว่าเป็นสารเสพติดที่สร้างอันตรายต่อมนุษยชาติมากที่สุด แม้จะมีผู้คนได้รับประโยชน์จากมันบ้าง แต่ผู้ที่ต้องได้รับผลกระทบทางลบจากสิ่งนี้ มากมายมหาศาล และหลายสังคมกำลังต้องร่วมรับภาระจากผลกระทบเหล่านี้ร่วมกัน ในขณะเดียวกันสารเสพติดอื่นที่มีอันตรายไม่เท่าแอลกอฮอล์ก็ควรต้องคงการควบคุมสารเสพติดเหล่านั้นไว้ เพื่อไม่ให้กลายไปเป็นสารที่ก่อให้เกิดอันตรายเพิ่มขึ้นต่อผู้คนและสังคมนั่นเอง

บทความที่เกี่ยวข้อง