แบบคัดกรอง ASSIST ฉบับภาษาไทย
ASSIST เป็นคำย่อของ Alcohol, Smoking, and Substance Involvement Screening Test หรือแบบคัดกรองประสบการณ์ในการใช้ยาสูบ สุรา และสารเสพติดตัวอื่นๆ เช่น กัญชา โคเคน ยาบ้า ยากล่อมประสาท ยาหลอนประสาท สารระเหย ฝิ่นและยาอื่นๆ ASSIST เป็นเครื่องมือคัดกรองแบบสั้นที่ได้รับการพัฒนาขึ้นมาโดยองค์การอนามัยโลก และทีมงานนักวิจัยจากนานาประเทศ (World Health Organization, 2009) เพื่อใช้เป็นวิธีการอย่างง่ายในการตรวจคัดกรองการดื่มสุรา สูบบุหรี่ และใช้สารเสพติดอื่นๆ ที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท (psychoactive substances) ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาสูบ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กัญชา โคเคน ยากระตุ้นประสาทกลุ่มแอมเฟตามีน ยากล่อมประสาทหรือยานอนหลับ สารระเหย ยาหลอนประสาท สารกลุ่มฝิ่น และสารเสพติดอื่นๆ สำหรับในประเทศไทย เนื่องจากกระท่อมและสารผสมจากน้ำต้มใบกระท่อม (เช่น สี่คูณร้อย) เป็นสารเสพติดที่มีผู้ใช้มากที่สุด ในแบบคัดกรอง ASSIST ฉบับภาษาไทย จึงได้บรรจุคำถามเกี่ยวกับการใช้พืชกระท่อมและสารผสมน้ำต้มใบกระท่อมลงไปด้วย (สาวิตรี อัษณางค์กรชัย และคณะ., 2554a; สาวิตรี อัษณางค์กรชัย และคณะ., 2554b)
ในประเทศไทย แผนงานวิชาการสารเสพติดชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพได้สนับสนุนให้มีการดำเนินงานโครงการพัฒนาเครื่องมือและระบบคัดกรองและบำบัดอย่างย่อโดยใช้ ASSIST ในปี 2554 ถึง 2556 งานดังกล่าวประกอบด้วย การวิจัยและพัฒนาแบบ action research เพื่อพัฒนางานบริการคัดกรองและบำบัดอย่างย่อฯในโรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ในจังหวัดสงขลาและขอนแก่น (Assanangkornchai et al., 2013; Assanangkornchai et al., 2014; สาวิตรี อัษณางค์กรชัย, 2556) การวิจัยแบบทดลองทางคลินิกเพื่อทดสอบประสิทธิผล และอรรถประโยชน์ของการบำบัดอย่างย่ออิงตามผล ASSIST ในสถานบริการระดับปฐมภูมิ ในจังหวัดสงขลา และปัตตานี (Nima and Assanangkornchai, 2013a; Nima and Assanangkornchai, 2013b) และการวิจัยแบบทดลองทางคลินิกเพื่อทดสอบประสิทธิผลของการบำบัดอย่างย่อร่วมกับการสนับสนุนครอบครัวอิงตามผลของ Brief-ASSIST ในผู้ป่วยโรคจิตเภทระยะแรกในโรงพยาบาลจิตเวชและโรงพยาบาลทั่วไป ในจังหวัดสงขลา และสตูล (Tantirungsi and Assanangkornchai, 2014) นอกจากนี้ยังมีการนำเครื่องมือ ASSIST และวิธีบำบัดอย่างย่ออิงตามผล ASSIST มาใช้ในการพัฒนาบุคลากรในหน่วยงานคุมประพฤติและระบบยุติธรรมที่ต้องทำงานเกี่ยวข้องกับผู้ต้องคดีหรือผู้ถูกคุมขังที่ใช้สารเสพติดอีกด้วย และมีการพัฒนาเกมส์และสื่อให้ความรู้โดยอิงตามข้อมูลในแบบคัดกรอง ASSIST ซึ่งงานส่วนต่างๆ ที่กล่าวมาทั้งหมดได้ดำเนินการต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน
ในขณะที่ทางประเทศไทยได้มีการพัฒนางานที่เกี่ยวกับ ASSIST มาตลอดนั้น นักวิจัยนานาชาติขององค์การอนามัยโลกก็ไม่ได้หยุดยั้งการพัฒนาเกี่ยวกับ ASSIST เช่นกัน โดยได้พัฒนาเครื่องมือและสื่อความรู้เกี่ยวกับ ASSIST ออกมาอีกหลายรายการ เช่น ASSIST ฉบับย่อมาก (ASSIST-Lite, ultra-rapid ASSIST) (Ali et al. 2013), ASSIST-Y หรือฉบับเด็กและเยาวชน และ e-ASSIST หรือฉบับอิเลคโทรนิก (Drug and Alcohol Services South Australia (DASSA), 2012) เป็นต้น
ดังนั้นเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการพัฒนางานที่เกี่ยวกับ ASSIST เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนางานดูแลรักษาผู้ใช้สารเสพติดทั้งในและนอกระบบสาธารณสุขในประเทศไทย คณะทำงานจึงได้ดำเนินงานเพื่อพัฒนาและติดตามความก้าวหน้าทางวิชาการเกี่ยวกับเครื่องมือคัดกรอง วิธีการบำบัดอย่างย่อ และสื่อความรู้ที่เกี่ยวข้องกับ ASSIST ต่อมา
เอกสารที่เกี่ยวข้อง
- รายงานฉบับสมบูรณ์ [Download]
- โปรแกรม “แบบคัดกรองประสบการณ์ การดื่มสุรา สูบบุหรี่ และการใช้สารเสพติด” สำหรับคอมพิวเตอร์ [Download]
- บัตรรายงานผล ASSIST v3.1 [หน้า 1] [หน้า 2]
- บัตรคำตอบ ASSIST [หน้า 1] [หน้า 2]
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ชุดข้อเท็จจริง เรื่อง “เยาวชนนอกสถานศึกษา ใครว่าเป็นปัญหา” ตอนที่หนึ่ง
- ภาษาที่ใช้สื่อสารในกลุ่มเยาวชนนอกสถานศึกษา
- วันรวมพลังคนทำงานยาเสพติดในสามจังหวัดชายแดนใต้
- แบบคัดกรอง ASSIST ฉบับภาษาไทย
- พริตตี้สาวเสียชีวิต ตอกย้ำภัยเหล้ามือสองและภัยจากยาเสพติด
- สรุปผลการศึกษา “โครงการสำรวจความรู้ ความเข้าใจ และความคิดเห็นของประชาชนต่อเรื่องกัญชาทางการแพทย์ และ การใช้แบบสันทนาการ: กรณีศึกษาประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ”
- การใช้กัญชาเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคซึมเศร้า
- ผลของโปรแกรมป้องกันการสูบบุหรี่และสารเสพติดโดยใช้หลักการอิสลาม ต่อความรอบรู้ด้านสุขภาพ ด้านป้องกันการสูบบุหรี่และสารเสพติดในเยาวชนมุสลิม โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้
- การทบทวนวรรณกรรมเพื่อเป็นแนวทางในการกำหนดระดับ THC ในผู้ขับขี่ยานพาหนะในไทย
- พฤติกรรมการติดเกม การซื้อสินค้าเสมือนในเกม ลูทบ็อกซ์ และการติดพนันในเกมออนไลน์ของวัยรุ่นไทย