วันรวมพลังคนทำงานยาเสพติดในสามจังหวัดชายแดนใต้
เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2559 ที่ผ่านมา ถือเป็นหมุดหมายสำคัญของคนทำงานเกี่ยวข้องกับยาเสพติดในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ได้ร่วมกันระดมความคิด แลกเปลี่ยนข้อมูลในประเด็นของ สถานการณ์ของปัญหายาเสพติดในพื้นที่ ผ่านการสนับสนุนงบประมาณจาก แผนงานภาคีวิชาการสารเสพติด (ภวส.) ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ องค์กร Thailand green crescent วัตถุประสงค์ของการจัดงานนี้คือการสร้างจุดเริ่มต้นของการบูรณาการการทำงานยาเสพติดของคนทำงานในพื้นที่ เนื่องด้วยความเป็นพื้นที่พิเศษ ที่นอกจากมีบทบาทของภาครัฐที่รับผิดชอบโดยตรงต่อปัญหายาเสพติดแล้ว ยังมีบริบทของศาสนาขับเคลื่อนในเกือบทุกภาคส่วนขององคาพยพของสังคม ซึ่งรวมถึงปัญหายาเสพติดนี้ด้วยเช่นกัน ในองค์กรภาครัฐอย่างเดียว ก็มีผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดอย่างน้อย 3 กระทรวง ได้แก่ สาธารณสุข มหาดไทย และยุติธรรม ซึ่งมีหน่วยงานที่ทำงานด้านยาเสพติด ทั้งด้านปราบปราม ป้องกัน บำบัด แตกแขนงภายใต้สามกระทรวงอีกมากมาย ส่วนภาคเอกชนในพื้นที่ ก็มีทั้ง NGO ที่ดูแลผู้ใช้ยาเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้น (IDU) มีโรงเรียนปอเนาะที่เปิดบำบัดโดยใช้ศาสนวิถี มีผู้นำท้องถิ่น ผู้นำศาสนาที่จัดการปัญหายาเสพติดในพื้นที่ด้วยกำลังของคนในชุมชน เหล่านี้คือความหลากหลายในพื้นที่ ที่มีองค์กรเข้ามาจัดการแก้ไขปัญหายาเสพติดมากมาย แต่ก็มีความถนัดกันคนละแบบ พอเป็นเข้าแบบนี้ถึงจะมีหลายฝ่ายหลายองค์กรที่ทำงานยาเสพติด แต่ก็เป็นลักษณะของการแยกกันทำ ขาดการประสานความร่วมมือ ซึ่งแย้งกับธรรมชาติของปัญหายาเสพติด ที่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ในปัญหานี้เรื่องเดียวมีประเด็นมากมายให้แก้ไขจัดการ ทั้งการผลิตยา การขนส่งยา การขายปลีก วิทยาศาสตร์ของเคมีในยาเสพติด พฤติกรรมและจิตวิทยาของผู้เสพ การบำบัดในโรงพยาบาล การบำบัดในชุมชน การเปลี่ยนคนเสพให้เลิก การแก้ปัญหาเหล่านี้ต้องใช้ความรู้ความสามารถ ทรัพยากรงบประมาณและทรัพยากรบุคคล ที่ครอบคลุมกับโครงสร้างของปัญหาทั้งหมด หากการจัดงานในครั้งนี้บรรลุตามที่ได้หวัง คงได้เห็นจุดเริ่มต้นของการบูรณาการในการทำงานมากขึ้น
ประเด็นสำคัญที่มีการแลกเปลี่ยนในงานวันนั้นคือ สถานการณ์ยาเสพติดที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ซึ่งมีการพูดคุยทั้งสถานการณ์ในเชิงสถิติที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ปปส.) ภาค 9 ได้รวบรวม และนำมานำเสนอในงาน ซึ่งภาพรวมของปัญหายาเสพติดในพื้นที่สามจังหวัด ถือว่าน่าเป็นห่วง เพราะมีแนวโน้มสถิติการจับกุมมากขึ้นทุกปี มีจำนวนผู้ต้องหาจากคดียาเสพติดเพิ่มมากขึ้น ส่วนยาเสพติดยอดนิยมในพื้นที่ที่มีการจับกุมมากที่สุดในช่วงปี 57-58 คือ กระท่อมและยาบ้า โดยสามารถจับกุมของกลางพืชกระท่อมได้ถึง 51.36 ตัน เทียบเท่า 9 คันรถบรรทุกสิบล้อ และของกลางยาบ้ารวมทั้งสิ้น 25 ล้านเม็ด ช่วงอายุของผู้ใช้ยาเสพติดที่พบมากที่สุดคือช่วงอายุระหว่าง 20-24 ปี ซึ่งอายุในวัยนี้โดยมากมักเป็นกลุ่มคนทำงาน สัดส่วนของนักศึกษาที่ใช้ยาเสพติดยังไม่มาก ช่วงอายุที่พบมากที่สุดในกลุ่มผู้ใช้ยาเสพติดที่อยู่ในสถานศึกษาคือ ช่วงวัยมัธยมต้น การเดินทางของยาเสพติด ถ้าเป็นยาบ้า เดินทางมาจากแหล่งผลิตบริเวณทางชายแดนทางตอนเหนือของประเทศ และเดินทางลงภาคใต้ผ่านการขนทางบก โดยใช้รถยนต์ส่วนตัว รถบรรทุกขนาดเล็ก ในการขนส่ง บางลอตก็พักยาเสพติดในประเทศมาเลเซียก่อนส่งกลับเข้ามาฝั่งประเทศไทย ส่วนพืชกระท่อมมีทั้ง เป็นผลผลิตในพื้นที่ นำเข้าจากภาคใต้ตอนบน และฝั่งประเทศมาเลเซีย
ในส่วนข้อมูลสถานการณ์ยาเสพติดจากภาคประชนที่ทำงานในพื้นที่ได้ให้ข้อมูลในทำนองเดียวกับวิทยากรจาก ปปส. ว่า ยาเสพติดที่ระบาดมากที่สุดในพื้นที่ คือ กระท่อมและยาบ้า และเพิ่มเติมในส่วนที่พบจากการทำงาน ว่าขณะนี้กำลังมีกระแสของการใช้เฮโรอีนเพิ่มมากขึ้นในกลุ่มผู้ใช้รายใหม่ ซึ่งโดยปกติแล้ว กลุ่มผู้ใช้เฮโรอีนไม่ควรจะมีผู้ใช้รายใหม่ เนื่องจากเป็นยาเสพติดที่มีฤทธิ์เสพติดรุนแรง และมีผู้เสียชีวิตจากการเสพผ่านเข็มจำนวนมากในอดีต ทำให้ผู้ใช้ยาเสพติดรุ่นๆถัดมาหลีกเลี่ยงการลองใช้เฮโรอีน แต่ปัจจุบัน พบเด็กที่อายุน้อยที่สุดที่ใช้เฮโรอีนคือ 9 ขวบ และพบว่ามีเยาวชนที่อายุน้อยกว่า 15 ปี เริ่มมีผู้ใช้เฮโรอีนที่แสดงตัวในเมทาโดนคลินิกบ้างแล้ว ในพื้นที่อำเภอชายทะเลของจังหวัด สงขลา ปัตตานีและนราธิวาส (อ.จะนะ อ.เทพา อ.หนองจิก อ.ยะหริ่ง อ.สายบุรี อ.ตากใบ) และบริเวณเขตชายแดนไทย-มาเลเซีย (อ.สุไหงโกลก อ.แว้ง อ.สุงไหงปาดี) เป็นพื้นที่ที่มีการระบาดของเฮโรอีนอย่างแพร่หลาย สาเหตุที่เฮโรอีนกลับมาระบาดอีกครั้งเนื่องจากราคาปรับตัวลงอย่างมาก ตอนนี้ราคาต่ำสุดเหลือเพียงตัวละ 20 บาท ในขณะที่ราคาของยาบ้ายังคงค้างที่เม็ดละมากกว่า 100 บาท ดังนั้น กลุ่มเยาวชน ที่ยังไม่สามารถหารายได้ จึงเริ่มหันมาใช้เฮโรอีน ซึ่งตอนวิธีการเสพได้พัฒนาหลากหลายรูปแบบ นอกจากการฉีดเข้าเส้น และสูบเอาควันที่เป็นการเสพแบบเดิมแล้ว ยังมีทั้งแบบโรยหน้ากัญชา โรยหน้าใบจาก หรือแม้กระทั่งผสมในส่วนผสมของน้ำกระท่อม 4×100 ผู้เข้าร่วมหลายท่านได้นำเสนอข้อมูลเรื่องการลำเลียงยาเสพติดในพื้นที่ ที่มีการลำเลียงเฮโรอีนทางทะเล ผ่านทางอำเภอที่ติดกับชายฝั่งอ่าวไทย และเป็นที่นิยมเสพในกลุ่มผู้ใช้แรงงานประมง ซึ่งทางปปส.ไม่มีสถิติการจับกุมยาเสพติดทางทะเลมานำเสนอ ข้อควรระวังในสถานการณ์ที่เฮโรอีนหาซื้อได้ง่าย และกลับมาระบาดอีกครั้งหนึ่ง คือเฮโรอีนในตลาดซื้อ-ขาย ตอนนี้อาจเป็นเฮโรอีนสังเคราะห์ ซึ่งสามารถผลิตได้ง่าย จากวัตถุดิบที่หาซื้อได้ทั่วไป ไม่ใช่ยางฝิ่นที่เป็นวัตถุตั้งต้นของเฮโรอีนแบบดั้งเดิม ซึ่งถ้าอนาคตเฮโรอีนสังเคราะห์ที่ว่านี้มีการระบาดมากขึ้น เราจะมีคนติดยาเสพติดเพิ่มมากขึ้น และความเสี่ยงจากโรคติดต่อผ่านเลือด เช่น เอดส์ และไวรัสตับอักเสบ จะเพิ่มมากขึ้น
ข้อห่วงใยที่สำคัญที่ได้รับฟังจากผู้เข้าร่วมในวันนั้น คือเรื่องการป้องกันเยาวชนไม่ให้เป็นผู้เสพรายใหม่ เพราะสถานการณ์ปัจจุบัน เยาวชนชายมีความเสี่ยงในการทดลองใช้ยาเสพติดตั้งแต่วัยประถม และเมื่อขึ้นสู่ช่วงวัยมัธยมมีโอกาสที่จะติด ผู้เข้าร่วมที่เป็นตัวแทนภาคประชาสังคมและองค์กรศาสนา ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญในการปลูกฝังจิตศรัทธาในตัวเยาวชน และกระบวนการสร้างครอบครัวและชุมชนเข้มแข็ง ซึ่งหวังว่าจะเป็นเกราะป้องกันที่สำคัญที่สุดให้เยาวชนห่างไกลจากยาเสพติดได้
ภาพบวกที่สำคัญอย่างยิ่งที่ได้จากการจัดงานในวันนั้น คือการแสดงให้เห็นความพยายาม มุมานะ ของแต่ละภาคส่วนในการแก้ไขปัญหายาเสพติด มีการเสนอแนวทางแก้ไขปัญหา ซึ่งมีข้อเสนอที่เห็นตรงกันว่าด้วย ความร่วมมือในการส่งต่อข้อมูลการบำบัดรักษา และสถานการณ์ยาเสพติด ในกลุ่มผู้ที่ทำงานด้านยาเสพติด ความร่วมมือที่น่าชื่นชมอีกประการคือ การเป็นพี่เลี้ยงของหน่วยงานภาครัฐในการดูแลหน่วยงานภาคประชาสังคมในพื้นที่ เช่น รพ.ธัญญารักษ์ที่ยินดีเป็นพี่เลี้ยงในการให้ความรู้ในการคัดแยกผู้ใช้ยาเสพติดที่มีอาการทางจิต และหากสถานบำบัดอื่นๆพบผู้มีอาการทางจิต ก็ยินดีรับมารักษาในรพ.ธัญญารักษ์จนกว่าอาการทางจิตจะดีขึ้น หรือ องค์กรภาคประชาสังคมที่ดูแลผู้ใช้ยาเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้น ยินดีที่จะแนะนำให้แรงเสริมแก่ผู้ใช้ยาเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้นที่เข้าร่วมงานขององค์กร ให้ไปรับการบำบัดในเมทาโดนคลินิก เป็นต้น เหล่านี้เป็นสัญญาณในทางบวก ที่พื้นที่แสดงให้เห็นว่า มีความตั้งใจในระดับหนึ่งที่จะเริ่มต้นบูรณาการการจัดการแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่
แผนงานต่อไปสำหรับจุดเริ่มต้นเล็กๆจากการจัดงานครั้งนี้ คือ
อันดับแรกคือการรักษาความสัมพันธ์ขององค์กรภาคีผู้เกี่ยวข้องกับปัญหายาเสพติด ให้ราบรื่นและเป็นประโยชน์ต่อการแก้ปัญหา
ลำดับต่อมาคือการสนับสนุนในการสร้างองค์ความรู้ ซึ่งเป็นสายงานวิชาการที่ภาคีวิชาการสารเสพติดทำเป็นหน้าที่หลักอยู่แล้ว ในงานนี้ มีผู้เข้าร่วมหลายคนที่เป็นนักวิจัย หรือมีความสนใจในการวิจัย ซึ่งหากสามารถต่อยอดความสนใจได้ ก็สามารถสร้างองค์ความรู้ในการจัดการยาเสพติดในพื้นที่ได้ ในอนาคต
ลำดับสุดท้ายคือ การเฝ้าระวังสถานการณ์ยาเสพติดร่วมกัน ของเครือข่ายที่ทำงานในภาคสนาม ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในการวิเคราะห์สถานการณ์ และปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์หรือนโยบาย ในการจัดการปัญหายาเสพติด ซึ่งคงจะต้องวางแผนร่วมกันในอนาคตว่า การรายงานสถานการณ์ลักษณะเช่นนี้ ควรจัดขึ้นกี่ครั้งต่อปี และ จะเชิญภาคีที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมได้อย่างไรบ้าง เพื่อให้ได้ข้อมูลทางสถานการณ์ที่ครบถ้วนมากยิ่งขึ้น
งานสัมมนานั้นจบไปแล้ว แต่งานภาคสนามที่ทุกคนตั้งใจทำเพื่อป้องกันสังคมจากภัยยาเสพติดยังไม่จบสิ้น
ตราบใดที่ยังคงมียาเสพติด ไม่ว่ามันจะมาในชื่ออะไรก็ตาม ความหวังดีต่อสังคมของผู้ทำงานยาเสพติดก็จะมอดดับลงไม่ได้เลย
เขียนโดย นพ.มูฮัมมัดฟาห์มี ตาเละ
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ชุดข้อเท็จจริง เรื่อง “เยาวชนนอกสถานศึกษา ใครว่าเป็นปัญหา” ตอนที่หนึ่ง
- ภาษาที่ใช้สื่อสารในกลุ่มเยาวชนนอกสถานศึกษา
- วันรวมพลังคนทำงานยาเสพติดในสามจังหวัดชายแดนใต้
- แบบคัดกรอง ASSIST ฉบับภาษาไทย
- พริตตี้สาวเสียชีวิต ตอกย้ำภัยเหล้ามือสองและภัยจากยาเสพติด
- สรุปผลการศึกษา “โครงการสำรวจความรู้ ความเข้าใจ และความคิดเห็นของประชาชนต่อเรื่องกัญชาทางการแพทย์ และ การใช้แบบสันทนาการ: กรณีศึกษาประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ”
- การใช้กัญชาเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคซึมเศร้า
- ผลของโปรแกรมป้องกันการสูบบุหรี่และสารเสพติดโดยใช้หลักการอิสลาม ต่อความรอบรู้ด้านสุขภาพ ด้านป้องกันการสูบบุหรี่และสารเสพติดในเยาวชนมุสลิม โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้
- การทบทวนวรรณกรรมเพื่อเป็นแนวทางในการกำหนดระดับ THC ในผู้ขับขี่ยานพาหนะในไทย
- พฤติกรรมการติดเกม การซื้อสินค้าเสมือนในเกม ลูทบ็อกซ์ และการติดพนันในเกมออนไลน์ของวัยรุ่นไทย