ชุดข้อเท็จจริง เรื่อง “เยาวชนนอกสถานศึกษา ใครว่าเป็นปัญหา” ตอนที่หนึ่ง
ที่มาของข้อมูล
เยาวชนที่ไม่ได้กำลังเรียนหนังสืออยู่ในโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาในช่วงวัยที่ควรจะศึกษาเล่าเรียนในโรงเรียน หรือเรียกว่า “เยาวชนนอกสถานศึกษา” มักจะถูกคนในสังคมมองว่าเป็นกลุ่มเสี่ยง และมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพหรือมีปัญหาในด้านชีวิตความเป็นอยู่ต่างๆ แผนงานภาคีวิชาการสารเสพติด (ภวส) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เห็นความสำคัญของการสร้างชุดความรู้เกี่ยวกับเยาวชนกลุ่มนี้ เพื่อให้เกิดความเข้าใจต่อชีวิตของเยาวชน และนำมาสู่การวางแผนส่งเสริมสุขภาพของเยาวชน พัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ หรือป้องกันแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกียวข้อง จึงได้สนับสนุนงบประมาณให้มีการดำเนินงานศึกษาพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพในกลุ่มเยาวชนนอกสถานศึกษาในปี พ.ศ. 2559 ทำการศึกษาใน 4 พื้นที่ ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดสงขลา จังหวัดขอนแก่น และจังหวัดนครปฐม เก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์เยาวชนนอกสถานศึกษาทั้งสิ้น 1,373 คน เป็นเยาวชนชาย 933 คน เยาวชนหญิง 440 คน
ชุดข้อเท็จจริงนี้ประกอบด้วยเนื้อหา 2 ตอน ได้แก่
- ตอนที่หนึ่ง ทำไมเยาวชนจึงออกจากโรงเรียนกลางคัน และพฤติกรรมเสี่ยงของเยาวชนนอกสถานศึกษา
- ตอนที่สอง เกิดอะไรขึ้นเมื่อเยาวชนรวมกลุ่มกัน และพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพ
๑. ทำไมเยาวชนจึงออกจากโรงเรียนกลางคัน
เยาวชนในการศึกษาประมาณครึ่งหนึ่งต้องออกจากระบบการศึกษาปกติในระดับมัธยมต้น อีกร้อยละ 34.5 ออกจากโรงเรียนตั้งแต่ระดับประถมศึกษา เหตุผลสำคัญในการที่ทำให้เยาวชนเหล่านี้ไม่เรียนหนังสือ คือ การติดเพื่อน ติดแฟน (ร้อยละ 27.8) ครอบครัวไม่สมบูรณ์ ขาดความอบอุ่น หรือบางครอบครัวเลี้ยงดูแบบตามใจ (ร้อยละ 23.1) มีปัญหาที่โรงเรียน เรียนรู้ช้ากว่าคนอื่น เรียนไม่ทันเพื่อน ไม่ชอบอยู่ในกฎระเบียบ (ร้อยละ 16.4) ห้องเรียนน่าเบื่อ มีปัญหากับครู (ร้อยละ 13.9) ครอบครัวยากจนไม่มีเงินเรียน (ร้อยละ 11.5) นอกจากนี้ยังมีเหตุผลปลีกย่อยอีกเล็กน้อย เช่น ทะเลาะวิวาท มีพฤติกรมการเสพสารเสพติด การถูกจับกุมดำเนินคดีเกี่ยวกับยาเสพติด เยาวชนหญิงท้องก่อนวัย ได้รับอุบัติเหตุจนไม่สามารถเรียนหนังสือได้ และย้ายที่อยู่บ่อย เป็นต้น เหตุผลเหล่านี้ดูเหมือนจะเป็นเหตุผลเดิมๆ ที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้ แม้จะมีเยาวชนมากกว่าร้อยละ 52 ที่หลังจากที่ออกจากระบบการศึกษาแล้วทำมาหากิน เช่น รับจ้างทั่วไป ทำนา ทำไร่ ทำสวน ขายของ เป็นพนักงานร้านค้า บริษัทเอกชน เทศบาล และช่วยทำงานที่บ้าน เป็นต้น แต่เยาวชนเหล่านี้ก็ยังถูกมองว่าเป็นปัญหาของสังคม และเป็นผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพมากมาย
๒. พฤติกรรมเสี่ยงของเยาวชนนอกสถานศึกษา
จากการที่เยาวชนไม่ได้เรียนหนังสืออยู่ในระบบการศึกษาแบบปกติ ทำให้เยาวชนมีโอกาสที่จะมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพต่างๆ เช่น พฤติกรรมการเล่นเกม การเล่นพนัน การใช้สารเสพติด และการซิ่งรถจักรยานยนต์ ดังข้อมูลต่อไปนี้
เยาวชนในการศึกษาร้อยละ 77 เคยเล่นเกมในชีวิตซึ่งรวมทั้งเกมออนไลน์ เกมออฟไลน์ เกมในเครื่องโมบายโฟน โดยเยาวชนกลุ่มนี้ร้อยละ 58.1 เล่นเกมในช่วง 1 ปี ก่อนการสัมภาษณ์ ซึ่งเมื่อแบ่งตามระดับปัญหาจากการติดเกมโดยใช้แบบทดสอบการติดเกม (ชาญวิทย์ พรนภดล, 2557) พบว่าเยาวชนร้อยละ 34.5 มีปัญหาในการเล่นเกมระดับมาก ร้อยละ 13.4 เริ่มมีปัญหาในการเล่นเกม เยาวชนชายมีปัญหาจากการเล่นเกมมากกว่าเยาวชนหญิง 10.5 เท่า เยาวชนที่มีพฤติกรรมดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีโอกาสในการมีปัญหาจากการเล่นเกม 1.5 เท่าเมื่อเทียบกับเยาวชนที่ไม่ดื่ม เช่นเดียวกับเยาวชนที่เล่นพนันมีปัญหาจากการเล่นเกม 1.9 เท่าของเยาวชนที่ไม่เล่นการพนัน
เยาวชนร้อยละ 49.5 ทีเคยเล่นการพนันในชีวิต โดยเยาวชนร้อยละ 28.9 เล่นพนันในช่วง 1 ปีก่อนการสัมภาษณ์ ประเภทการพนันที่เยาวชนเล่นบ่อย คือ การพนันที่ผิดกฎหมาย (ร้อยละ 16.8) เช่น หวยใต้ดิน พนันฟุตบอล ไพ่ มวย ม้าตู้ ชนไก่ ไฮโล เป็นต้น และเล่นหวยรัฐบาล (ร้อยละ 4.2) การเล่นการพนันในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาของเยาวชนก่อให้เกิดโอกาสในการเสพสารเสพติดในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ 1.7 เท่า เมื่อเทียบกับเยาวชนที่ไม่ได้เล่นการพนัน
เยาวชนร้อยละ 20.7 มีพฤติกรรมการซิ่งรถจักรยานยนต์ โดยร้อยละ 23.5 ไม่เคยสวมใส่หมวกนิรภัย และร้อยละ 37.6 เคยได้รับอุบัติเหตุจากการเป็นผู้ขับขี่
เยาวชนร้อยละ 62.1 เคยสูบบุหรี่ในชีวิต ร้อยละ 46.8 สูบบุหรี่/ยาสูบในช่วง 3 เดือนก่อนการสัมภาษณ์ เมื่อคัดกรองระดับความเสี่ยงจากการสูบบุหรี่/ยาสูบโดยใช้แบบสอบถาม ASSIST-Y พบว่าเยาวชนร้อยละ 41.9 จัดได้ว่าเป็นผู้มีความเสี่ยงสูงจากการสูบบุหรี่
เยาวชนร้อยละ 69.5 เคยดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในชีวิต โดยเยาวชนในการศึกษาร้อยละ 52.6 ดื่มในช่วง 3 เดือนก่อนการสัมภาษณ์ และเยาวชนร้อยละ 9.3 จัดได้ว่าเป็นผู้มีความเสี่ยงสูงจากการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
เยาวชนในการศึกษาถึงร้อยละ 43.3 เคยเสพสารเสพติดอย่างน้อยหนึ่งชนิดในชีวิต ร้อยละ 21.3 เสพสารเสพติดในช่วง 3 เดือนก่อนการสัมภาษณ์ สารเสพติดที่นิยมเสพได้แก่ ยาบ้า กัญชา น้ำต้มใบกระท่อมผสมสารอื่นๆ สาระเหย ใบกระท่อม เฮโรอีน ยานอนหลับ ยากล่อมประสาท ยาหลอนประสาท และโคเคนตามลำดับ และเยาวชนร้อยละ 15.8 จัดได้ว่าเป็นผู้มีความเสี่ยงสูงจากการใช้สารเสพติด
พฤติกรรมการสูบบุหรี่ การเล่นพนันมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมเสพสารเสพติดชนิดใดๆ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยพบว่าเยาวชนที่สูบบุหรี่มีโอกาสได้รับความเสี่ยงสูงจากการใช้สารเสพติด 20.8 เท่า เล่นพนันมีโอกาสได้รับความเสี่ยงสูงจากการใช้สารเสพติด 2.1 เท่า
ผลการศึกษานี้ช่วยยืนยันว่าเยาวชนนอกระบบสถานศึกษาไม่ว่าจะออกจากสถานศึกษาด้วยเหตุผลอะไรก็ตามมีโอกาสเพิ่มขึ้นที่จะมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพจากการสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เล่นเกม เล่นพนัน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การใช้สารเสพติดผิดกฎหมายชนิดอื่นๆ ซึ่งจะเป็นปัญหามากขึ้นต่อตัวเยาวชนเองและสังคมโดยรวม เยาวชนนอกระบบสถานศึกษาเหล่านี้มีปัญหาพฤติกรรมเสี่ยงมากกว่าเยาวชนช่วงวัยเดียวกันที่ยังอยู่ในระบบการศึกษา เช่น การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ของเยาวชนนอกระบบสถานศึกษา(ชาย 76.7% หญิง54.1%) เยาวชนในระบบการศึกษา(ชาย 39.8% หญิง 24.5%) พฤติกรรมการสูบบุหรี่ของเยาวชนนอกระบบสถานศึกษา(ชาย 78.9% หญิง 26.3%)เยาวชนในระบบการศึกษา(ชาย 21.2% หญิง 5.5%) เยาวชนนอกระบบสถานศึกษาที่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ในปัจจุบัน 55.7% เยาวชนในระบบการศึกษา 10.8% เยาวชนนอกระบบสถานศึกษาเสพสารเสพติดและดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในปัจจุบัน 20.7% เยาวชนในระบบการศึกษา 17.8% ผลการศึกษาชี้ชัดว่าเยาวชนเหล่านี้ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษาปกติจึงทำให้มีปัญหามากกว่า ดังนั้นควรหาวิธีที่จะทำให้เยาวชนยังอยู่ในโรงเรียนในวัยอันควร โดยการจัดการกับปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้เยาวชนต้องออกจากโรงเรียนกลางคัน ซึ่งหลายปัจจัยสามารถป้องกันแก้ไขได้ เช่น การเริ่มจากครอบครัวความอบอุ่นและการมีเวลาให้กับเยาวชนการปรับเปลี่ยนทัศนคติของพ่อแม่ที่เข้มงวดกับการเรียน สภาพการเรียนรู้ในโรงเรียน กฎระเบียบ นโยบายเรียนฟรีสำหรับการศึกษาภาคบังคับสิบสองปีนับจากอนุบาล เป็นต้น
อ้างอิง
ชาญวิทย์ พรนภดล, บัณฑิต ศรไพศาล, กุสุมาวดี คำเกลี้ยง, เสาวนีย์ พัฒนอมร. ”การพัฒนาแบบทดสอบการติดเกม” วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ปีที่ : 59 ฉบับที่ : 1 เลขหน้า : 3-14 ปีพ.ศ. : 2557.
สาวิตรี อัษณางค์กรชัยและนพพร ตันติรังสี. (2557) ชุดเครื่องมือคัดกรอง ASSIST ฉบับภาษาไทย. เชียงใหม่: แผนงานวิชาการสารเสพติดชุมชน (ผรส.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)”
สาวิตรี อัษณางค์กรชัยและคณะ.(2551) การเฝ้าระวังพฤติกรรมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาในประเทศไทย. สงขลา: เครือข่ายวิชาการวิจัยและข้อมูลด้านสารเสพติดในภาคใต้ สำนักวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.
Rachel Humeniuk, Chris Holmwood, Aina Kambala and Monica Beshara. ASSIST-Y: Developing the WHO Alcohol, Smoking and Substance Involvement Screening Test (ASSIST) for young people. Clinical Workforce Development and Standards, Drug and Alcohol Services South Australia, SA Health.2012.
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ชุดข้อเท็จจริง เรื่อง “เยาวชนนอกสถานศึกษา ใครว่าเป็นปัญหา” ตอนที่หนึ่ง
- ภาษาที่ใช้สื่อสารในกลุ่มเยาวชนนอกสถานศึกษา
- วันรวมพลังคนทำงานยาเสพติดในสามจังหวัดชายแดนใต้
- แบบคัดกรอง ASSIST ฉบับภาษาไทย
- พริตตี้สาวเสียชีวิต ตอกย้ำภัยเหล้ามือสองและภัยจากยาเสพติด
- สรุปผลการศึกษา “โครงการสำรวจความรู้ ความเข้าใจ และความคิดเห็นของประชาชนต่อเรื่องกัญชาทางการแพทย์ และ การใช้แบบสันทนาการ: กรณีศึกษาประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ”
- การใช้กัญชาเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคซึมเศร้า
- ผลของโปรแกรมป้องกันการสูบบุหรี่และสารเสพติดโดยใช้หลักการอิสลาม ต่อความรอบรู้ด้านสุขภาพ ด้านป้องกันการสูบบุหรี่และสารเสพติดในเยาวชนมุสลิม โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้
- การทบทวนวรรณกรรมเพื่อเป็นแนวทางในการกำหนดระดับ THC ในผู้ขับขี่ยานพาหนะในไทย
- พฤติกรรมการติดเกม การซื้อสินค้าเสมือนในเกม ลูทบ็อกซ์ และการติดพนันในเกมออนไลน์ของวัยรุ่นไทย