สรุปผลการศึกษา “โครงการสำรวจความรู้ ความเข้าใจ และความคิดเห็นของประชาชนต่อเรื่องกัญชาทางการแพทย์ และ การใช้แบบสันทนาการ: กรณีศึกษาประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ”

เมื่อ : 2020-02-17 11:12:56 อ่านแล้ว: 8829 ครั้ง
ชื่อไฟล์ที่สามารถดาวโหลดได้ (คลิกเพื่อดาวน์โหลด)

สรุปผลการศึกษา  

“โครงการสำรวจความรู้ ความเข้าใจ และความคิดเห็นของประชาชนต่อเรื่องกัญชาทางการแพทย์ และการใช้แบบสันทนาการ: กรณีศึกษาประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ” 

ดร.สุริยัน บุญแท้ มกราคม 2563 

          ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา การนำกัญชามาใช้ในทางการแพทย์ เป็นประเด็นที่มีการกล่าวถึงและได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวางในสังคมไทย อย่างไรตาม ว่าแม้กัญชาจะมีคุณประโยชน์ทางการแพทย์ แต่ก็มีโทษ และผลข้างเคียงหากใช้อย่างไม่ถูกวิธีหรือไม่เหมาะสม จึงเป็นที่น่าสนใจว่า ปัจจุบันประชาชนคนไทยรับรู้ข้อมูล ที่ถูกต้องมากน้อยเพียงใด และมีความคิดเห็นอย่างไรต่อการใช้กัญชา รวมถึงพฤติกรรมการใช้กัญชาทั้งทาง การแพทย์ และเพื่อสันทนาการ   โครงการสำรวจความรู้ ความเข้าใจ และความคิดเห็นของประชาชนต่อเรื่องกัญชาทางการแพทย์ และ การใช้แบบสันทนาการในครั้งนี้ กำหนดประชากรเป้าหมายคือประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไป ประยุกต์ใช้การวิจัย เชิงสำรวจด้วยการสุ่มตัวอย่างจาก 20 จังหวัดทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ รวมจำนวน 5,439 ตัวอย่าง ดำเนินการในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2562 - มกราคม 2563 ผลการศึกษาสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้  

1. ความรู้ ความเข้าใจต่อเรื่องกัญชาทางการแพทย์

          ข่าวสารเกี่ยวกับกัญชาทางการแพทย์แพร่กระจายอย่างกว้างขวาง เข้าถึงคนไทย (อายุ 15 ปีขึ้นไป) ได้ กว่า 44 ล้านคน และมักเป็นการให้ข้อมูลเชิงสนับสนุนการใช้ในทางการแพทย์ อย่างไรก็ตาม แหล่งที่มาของ ข้อมูลส่วนใหญ่มาจากคนรู้จัก หรือผู้ที่เคยใช้ ไม่ใช่แหล่งที่เป็นทางการจากกระทรวงสาธารณสุข หรือองค์กร วิชาชีพทางการแพทย์ หรือจากนักวิชาการ ทำให้ข้อมูลที่ประชาชนได้รับนั้นอาจไม่ตรงกับข้อเท็จจริง          ผลสำรวจจึงพบว่าตัวอย่างส่วนใหญ่เข้าใจไม่ถูกต้อง หรืออาจไม่ทราบเลย โดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับประโยชน์ ของกัญชาในประเด็น “กัญชารักษาโรคมะเร็งให้หายได้” และ “กัญชาใช้รักษาโรคนอนไม่หลับได้” ซึ่งยังต้องมี การวิจัยเพิ่มเติม แต่กลับมีตัวอย่างที่เชื่อว่าเป็นข้อมูลที่ถูกต้องแล้วสูงถึงร้อยละ 39 และ 30 ตามลำดับ โดยอีก ร้อยละ 27 และ 43 ตามลำดับ ระบุไม่ทราบ/ ไม่แน่ใจ  ในทำนองเดียวกัน ข้อมูลเกี่ยวกับผลข้างเคียง หรืออันตรายจากการใช้กัญชา ที่นำมาศึกษาซึ่งล้วนแต่ เป็นข้อมูลที่ถูกต้อง ก็พบว่ามีหลายประเด็นที่ส่วนใหญ่เข้าใจไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะ 4 ประเด็นต่อไปนี้ที่มี ตัวอย่างกว่าร้อยละ 80 เข้าใจไม่ถูกต้อง รวมถึงไม่ทราบ/ ไม่แน่ใจ ได้แก่ “กัญชาอาจจะส่งผลให้พิการ หรือ เสียชีวิต จากโรคหลอดเลือดสมอง” “กัญชาอาจจะส่งผลให้พิการ หรือเสียชีวิต จากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เฉียบพลัน” “กัญชาอาจจะกระตุ้นให้เกิดอาการป่วยทางจิตรุนแรง เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้า และ การฆ่าตัวตาย” และ “กัญชาอาจทำลายความรู้สึกทางเพศ ลดสมรรถภาพทางเพศ” 

          จากผลการศึกษาข้างต้น จึงเป็นการดีสมควรอย่างยิ่งที่องค์กรวิชาชีพทางการแพทย์ อาทิ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข แพทยสภา และสมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย ได้จัดทำคำแนะนำ ข้อเท็จจริง หรือความคิดเห็นเกี่ยวกับกัญชาทางการแพทย์ สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ และสำหรับ ประชาชนทั่วไป อย่างไรก็ตาม ควรมีการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องให้มากขึ้น โดยเฉพาะการ นำมาใช้รักษาโรคมะเร็ง รวมถึงโรค/ อาการอื่นๆ ที่ยังพิสูจน์แน่ชัดไม่ได้ว่าใช้กัญชารักษาแล้วจะได้ผล ทั้งนี้ ควรเลือกใช้สื่อโทรทัศน์เป็นหลัก ร่วมกับสื่อออนไลน์ต่างๆ โดยสร้างสรรค์รูปแบบการนำเสนอที่ดึงดูด มีความ น่าสนใจ อีกทั้งควรให้ข้อมูลผ่านการทำกิจกรรมในพื้นที่ด้วย นอกจากนี้ ในการประชาสัมพันธ์ยังควรคำนึงถึง ความแตกต่างทั้งทางด้านเพศ อายุ และการศึกษา โดยพยายามให้เข้าถึงครอบคลุมทุกกลุ่ม 

2. ความคิดเห็นต่อการใช้กัญชา

          ตัวอย่างส่วนใหญ่มีแนวโน้มเห็นด้วยต่อการนำกัญชามาใช้ทางการแพทย์ แต่ต้องอยู่ภายใต้การดูแล โดยโรงพยาบาลของรัฐเท่านั้น ในทางตรงข้าม ไม่สนับสนุนการนำมาใช้เพื่อสันทนาการ รวมถึงการซื้อ-ขาย กัญชาโดยเสรี และยังมีความเห็นก้ำกึ่งต่อการอนุญาต “ให้ประชาชนปลูกกัญชาได้บ้านละ 6 ต้น” เนื่องมาจาก ส่วนใหญ่ยังไม่มั่นใจในการควบคุมของรัฐบาล โดยเกรงว่าผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ปลูกกัญชาได้นั้นจะปลูกเกินกว่า ที่กฎหมายกำหนด และผู้ใช้กัญชาจะนำมาใช้ในทางที่ผิดคือใช้เพื่อสันทนาการ จนกลายเป็นความกังวลใจว่าจะ ทำให้เยาวชนและประชาชนเสพติดกัญชามากขึ้น ดังนั้น ในการขับเคลื่อนนโยบายเสรีกัญชาเพื่อการแพทย์ จึงต้องกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และแนวทางในการกำกับควบคุมให้ชัดเจนมากกว่านี้ และสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจและเชื่อมั่น 

3. พฤติกรรมการใช้กัญชาทางการแพทย์ และการใช้แบบสันทนาการ

          ผลการสำรวจการเคยใช้กัญชา ในตลอดชีวิตที่ผ่านมา พบว่าคนไทยกว่า 5 ล้านคน เคยใช้ในทางที่ผิด คือใช้เพื่อสันทนาการ ซึ่งพบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากที่สุด ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย และ 2 ใน 3 อยู่ใน กลุ่มอายุ 30 - 59 ปี ทั้งนี้ ผลสำรวจในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา พบว่ายังมีผู้ใช้กัญชาเพื่อสันทนาการอยู่กว่า 1 ล้านคน โดยครึ่งหนึ่งอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิงอย่างชัดเจน และกว่า 3 ใน 4 อยู่ในช่วงอายุ 20 - 49 ปี ที่น่าพิจารณาคือ กลุ่มเยาวชนอายุ 15 - 19 ปี ตามที่พบว่าตลอดชีวิตที่ผ่านมา มี กว่า 1 แสนคนที่เคยใช้กัญชา ซึ่งทั้งหมดใช้เพื่อสันทนาการ (มีบางส่วนใช้เพื่อรักษาโรคร่วมด้วย) และในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ยังคงใช้เพื่อสันทนาการอยู่กว่า 5 หมื่นคน หรือกล่าวได้ว่ามีประมาณครึ่งหนึ่งที่ยังไม่เลิก และที่น่าพิจารณาประการต่อมาคือ ผู้ที่ใช้กัญชาเพื่อสันทนาการในปัจจุบันทุกรายต่างทราบถึงผลเสียที่จะเกิด กับตัวเองไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง โดยเฉพาะผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจ แต่ก็ยังคงใช้อยู่ สำหรับการใช้เพื่อรักษาโรค หากรวมทั้งตัวเองและคนในครอบครัวด้วยแล้ว ผลประมาณการพบวา่ มีอยู่ 1.643 ล้านคน โดยโรคหรืออาการที่ใช้รักษาหลักๆ ได้แก่ โรคมะเร็ง ความเครียด นอนไม่หลับ เบาหวาน ความดัน ปวดเมื่อย และไมเกรน ซึ่งส่วนใหญ่มีผลการอาการดีขึ้น อย่างไรก็ตาม กลับพบว่าผู้ที่แจ้งลงทะเบียน เป็นผู้ใช้กัญชากับทางสาธารณสุข รวมกันมีเพียง 1 แสนกว่าคนเศษ หรือประมาณร้อยละ 8 ของผู้ที่ใช้รักษา โรคเท่านั้น ผู้วิจัยเห็นว่าระบบการลงทะเบียนผู้ใช้กัญชานั้นมีความสำคัญมาก จึงควรกำหนดให้เป็นข้อบังคับอย่าง เคร่งครัด พร้อมประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบ และให้ความร่วมมือ เพื่อเป็นการตรวจสอบ และติดตาม ผู้ใช้ รวมถึงควบคุมปริมาณการใช้ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ซึ่งจะเป็นผลดีต่อผู้ที่ใช้ในการรักษาโรค และเป็น อีกแนวทางหนึ่งในการป้องกันการนำกัญชาไปใช้ในทางที่ผิด ทั้งนี้ ควรมีการควบคุมการนำกัญชาไปใช้เพื่อ สันทนาการอย่างเข้มงวดมากขึ้นด้วย โดยรวมถึงการนำไปปรุงอาหาร 




บทความที่เกี่ยวข้อง