วิวัฒนาการกฎหมายกระท่อมในประเทศไทย

เมื่อ : 2021-08-23 22:35:20 อ่านแล้ว: 6008 ครั้ง
ชื่อไฟล์ที่สามารถดาวโหลดได้ (คลิกเพื่อดาวน์โหลด)

วิวัฒนาการกฎหมายกระท่อมในประเทศไทย

โดย ดร.นพ. มูฮัมมัดฟาห์มี ตาเละ


เมื่อสักประมาณ 20 ปีที่แล้ว หากใครสักคนพูดถึงกระท่อม สิ่งแรกที่คนจะนึกภาพตามคือ ที่อยู่อาศัยขนาดเล็ก ที่พอจะเป็นที่หลับนอนและใช้ชีวิตอยู่ได้ หรือหากเจาะจงมาถามชาวบ้านในแถบภาคใต้ ก็อาจจะนึกถึงต้นพืชสมุนไพรชนิดหนึ่งที่เอาไว้ใช้สำหรับแก้อาการปวด ลดไข้ แก้ท้องผูก ถ้าถามคนใช้แรงงาน คนขับรถระยะไกล ก็จะนึกถึงใบไม้ที่ไว้เคี้ยวชูกำลัง 

แต่หากคำว่า กระท่อม ถูกกล่าวขานอีกครั้ง ณ ปัจจุบันนี้ ความหมายแรกที่ทุกคนคิดถึงคงไม่ใช่อย่างที่เคยเป็นเมื่ออดีตเสียแล้ว สถานะของกระท่อมกลายเป็น สิ่งเสพติดผิดกฎหมายที่มีคนใช้มากที่สุดอันดับหนึ่งในประเทศไทย มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 จวบจนถึงปัจจุบัน (เพิ่งตกเป็นอันดับสองในช่วงกระแสกัญชามาแรงสักปีสองปีนี้เองครับ) 

กระท่อมได้สร้างพื้นที่ทางความรู้สึกแบบใหม่ให้คนในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแถบภาคใต้ของประเทศ คำว่าคนติดกระท่อม ไม่ได้แปลว่าคนติดบ้าน ไม่ออกไปไหน ไม่เถลไถล แต่กลายเป็นคำที่เป็นภาระและตราบาปสำหรับคนที่ถูกเรียก ติดกระท่อม ถูกตีความหมายว่าเป็นผู้เสพยาเสพติด ผู้ติดยาเสพติด มีแนวโน้มจะไม่มีอนาคตที่ดี ยิ่งในบางหมู่บ้าน ติดกระท่อม ก็ประหนึ่งว่าเป็นอาชญากรไปเลย

เส้นทางการสร้างความหมาย การเปลี่ยนบทบาท และพลวัตรของพืชกระท่อมตลอดช่วงเวลาเกือบ 20 ปี ที่ผ่านมาเป็นเรื่องราวที่น่าสนใจ จากพืชที่ขึ้นตามป่าเขาของภาคใต้ตอนล่างมาเป็นพัน ๆ ปี ผู้คนในพื้นที่ได้ใช้ประโยชน์ด้วยสรรพคุณทางยา จนกระทั่งมีการนำมาใช้อย่างผิดวิธีด้วยการผสมสารอื่น ๆ ใช้เพื่อความบันเทิงรื่นเริง จนเปลี่ยนสถานะเป็นพืชเสพติด มีความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งเป็นสิ่งเสพติดที่มีการบริโภคมากที่สุดในประเทศไทย อยู่ในลำดับที่มีคนเสพมากกว่าสิ่งเสพติดที่มีการใช้ทั่วโลกอย่าง ยาบ้า ไอซ์ และ กัญชาได้  

กระนั้นก็ตามเมื่อช่วงกลางปี 2564 ได้มีการแก้ไข พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 8) พ.ศ.2564 มีการแก้ไขถอดพืชกระท่อมออกจากยาเสพติด ประเภท 5 คือ พืชกระท่อมจะไม่เป็นยาเสพติดตามกฎหมายอีกต่อไป พ.ร.บ.ฉบับนี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 26 พ.ค.2564 และจะมีผลเริ่มใช้บังคับในวันที่ 24 ส.ค.2564 นั้น จึงทำให้สังคมเกิดคำถามและความสนใจต่อประเด็นดังกล่าว อันที่จริงแล้วรายละเอียดทางกฎหมายที่ปรับปรุงนั้น มีการอนุญาตให้ใช้กระท่อมเฉพาะในรุปแบบของการใช้เป็นพืชสมุนไพรเท่านั้น ไม่รวมในกรณีที่มีการนำมาต้มแปรรูป ผสมกับสารอื่น ๆ ใช้เพื่อการเสพเชิงสันทนาการ ซึ่งการใช้รูปแบบดังกล่าวนี้เองที่ทำให้กระท่อมเป็นที่รับรู้ว่าเป็นพืชเสพติด ทั้ง ๆ ที่ความจริงแล้วกระท่อมอยู่ร่วมกับวิถีชีวิตคนในประเทศไทย โดยเฉพาะภาคใต้ตอนล่างมายาวนาน  

ผมคิดว่าจะเขียนบทความเกี่ยวกับพืชกระท่อมประมาณสามตอน โดยตอนแรกวันนี้จะขอนำเสนอข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับวิวัฒนาการทางกฎหมายของพืชกระท่อม มีหลายประเด็นที่น่าสนใจเป็นเกร็ดความรู้ แม้กระท่อมจะเป็นที่รู้จักในฐานะยาเสพติดไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา แต่เชื่อหรือไม่ว่ากระท่อมถูกบรรจุเป็นยาเสพติดผิดกฎหมายมาร่วมร้อยปีแล้ว เรื่องราวเป็นอย่างไรผมจะเล่าให้ฟังครับ

เมื่อพูดถึงกระท่อมในประเทศไทยหรือสยาม ต้องพูดถึงฝิ่นควบคู่ไปด้วย เนื่องจากประวัติศาสตร์ของพืชเสพติดสองชนิดนี้มีความเกี่ยวข้องกัน และส่งผลทางกฎหมายซึ่งกันและกันจวบจนถึงปัจจุบัน 

ฝิ่นเข้ามาในสมัยใดของสยามไม่เป็นที่แน่ชัด แต่กฎหมายเกี่ยวกับฝิ่นปรากฏครั้งแรกในสมัยกรุงศรีอยุธยา ช่วงสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ. 1903 หรือ ประมาณ 600 ปี ล่วงมาแล้ว ตามกฎหมายฉบับนี้ ได้บัญญัติการห้ามซื้อ ขาย เสพฝิ่นไว้ว่า "ผู้สูบฝิ่น กินฝิ่น ขายฝิ่นนั้น ให้ลงพระราชอาญาจงหนักหนา ริบราชบาทว์ให้สิ้นเชิง ทเวนบกสามวัน ทเวนเรือสามวัน ให้จำใส่คุกไว้จนกว่าจะอดได้ ถ้าอดได้แล้วเรียกเอาทานบน แก่มันญาติพี่น้องไว้แล้ว จึงให้ปล่อยผู้สูบ ขาย กินฝิ่น ออกจากโทษ"  

ต่อมาสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ทรงแจกกฎหมายป่าวร้องห้ามปรามผู้ขาย ผู้สูบฝิ่น แต่ให้ผลในทางปฏิบัติได้น้อย ก็ยังคงมีผู้เสพฝิ่นในราชอาณาจักรอยู่ เมื่อเปลี่ยนรัชกาลเป็นสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 จึงได้ทรงตราพระราชกำหนดโทษให้สูงขึ้นไปอีก โดย "ห้ามอย่าให้ผู้ใดสูบฝิ่น กินฝิ่น ซื้อฝิ่นขายฝิ่น และเป็นผู้สมซื้อสมขายเป็นอันขาดทีเดียวถ้ามิฟังจับได้ และมีผู้ร้องฟ้อง พิจารณาเป็น สัจจะให้ลงพระอาญา เฆี่ยน 3 ยก ทเวนบก 3 วัน ทเวนเรือ 3 วัน ริบราชบาทว์ บุตรภรรยา และ ทรัพย์สิ่งของให้สิ้นเชิง ให้ส่งตัว ไปตะพุ่นหญ้าช้าง ผู้รู้เห็นเป็นใจมิได้เอาความมาว่ากล่าว จะให้ลง พระอาญาเฆี่ยน 60 ที"

ในรัชกาลที่ 3 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นระยะที่ตรงกับสมัยที่อังกฤษนำฝิ่นจากอินเดีย ไปบังคับขายให้จีนทำให้มีคนจีนติดฝิ่นเพิ่มขึ้น และในช่วงเวลานั้น ตรงกับระยะที่คนจีนเข้ามาค้าขายในเมืองไทยมากขึ้น จึงเป็นการนำการใช้ฝิ่นและผู้ติดฝิ่นเข้ามาในเมืองไทย ตลอดจนการค้าขายทางเรือมีมากยิ่งขึ้น ทำให้มีการลักลอบนำฝิ่นเข้ามาในเมืองไทยด้วยเรือสินค้าต่าง ๆ มาก จึงเป็นเหตุให้การเสพฝิ่นระบาดยิ่งขึ้นไปอีก พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 จึงได้ปราบปรามผู้ค้า-ผู้เสพฝิ่นหนักยิ่งขึ้น ในปี พ.ศ. 2382 ได้ไปจับฝิ่นตามหัวเมืองชายทะเล ทั้งภาคตะวันออกและภาคใต้ ครั้งนั้นจับได้ฝิ่นดิบถึง 3,700 หาบเศษ ฝิ่นสุก 2 หาบเศษ ได้ฝิ่นรวมแล้วเกือบ 2.6 แสนกิโลกรัม และนำกลับมาเผาทำลายที่กรุงเทพ

ในสมัยรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นว่าการปราบปรามไม่สามารถขจัดปัญหาการสูบ และขายฝิ่นได้ และก่อให้เกิดความยุ่งยากวุ่นวายขึ้น จึงทรงเปลี่ยนนโยบายใหม่ ยอมให้คนจีนเสพและขายฝิ่นได้ตามกฎหมาย แต่ต้องเสียภาษีผูกขาดมีนายภาษีเป็นผู้ดำเนินการ ปรากฏว่าภาษีฝิ่นทำรายได้ให้แก่ประเทศไทยมาก ซึ่งสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงรวบรวมไว้ในหนังสือลัทธิธรรมเนียมต่าง ๆ ใน "ตำนานภาษีฝิ่น" ว่าภาษีที่ได้นั้นประมาณว่าถึงปีละ 4 แสนบาท สูงเป็นอันดับที่ 5 ของรายได้ประเภทต่าง ๆ และได้มีความพยายามห้ามคนไทยไม่ให้เสพฝิ่น แต่ก็ไม่ได้ผลเต็มที่ 

ฝิ่นดำรงอยู่ในสภาพของยาเสพติดที่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐมาตลอดตั้งแต่ช่วงรัชกาลที่ 4 จนเมื่อถึงรัชสมัยของรัชกาลที่ 8  ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 8 ก็เริ่มมีนักสูบฝิ่นจำนวนหนึ่งทดลองใช้ใบกระท่อมทดแทนฝิ่นที่ราคาแพงกว่าหลายเท่าโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ฝิ่นขาดตลาด กระท่อมปรากฏเป็นยาเสพติดต้องห้ามตามกฎหมายเป็นครั้งแรกในรัชสมัยนี้ ซึ่งเหตุผลที่แท้จริงของการออก พ.ร.บ.พืชกระท่อม พ.ศ. 2486 เนื่องจากฝิ่นที่รัฐเป็นผู้ผูกขาดผลิตฝิ่นสุก ฝิ่นดิบ มีราคาแพง ทำให้คนหันมาสูบกระท่อมแทนฝิ่น (26) ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าแท้ที่จริงการตรา พ.ร.บ. พืชกระท่อม พ.ศ. 2486 และใช้สืบเนื่องมาจนทุกวันนี้มีเหตุผลและหลักการทางการค้าทางภาษีของรัฐที่ต้องการรักษาผลประโยชน์ของรัฐจากการควบคุมการผลิตและจำหน่ายฝิ่น ซึ่งหากนักสูบฝิ่นไปสูบหรือเสพใบกระท่อมแทน รายได้ของรัฐจากการทำธุรกิจกับฝิ่นก็จะลดลงไปด้วย หาใช่เพราะเหตุที่พืชกระท่อมเป็นพืชเสพติดเองไม่ และในสมัยดังกล่าวก็แทบไม่มีข้อมูลทางเภสัชวิทยาของกระท่อม รวมถึงไม่มีการจัดเก็บข้อมูลผลกระทบด้านสุขภาพกายและจิตของผู้ใช้กระท่อมที่เป็นมาตรฐาน กฎหมายห้ามกระท่อมของไทยถือเป็นชาติแรกในโลกที่ระบุคำสั่งห้ามค้าและเสพพระท่อม เนื่องจากเป็นประเทศที่ตั้งอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นภูมิภาคเดียวที่มีพืชกระท่อมอยู่  และประเทศต่อมาที่ประกาศใช้กฎหมายนี้นั่นคือประเทศมาเลเซียซึ่งเป็นเพื่อนบ้านของไทย ที่ประกาศใช้ในปี 1952 (พ.ศ. 2495) ซึ่งก็เป็นผลพวงมาจากการที่ผู้เสพฝิ่นในประเทศใช้กระท่อมทดแทนในช่วงที่ฝิ่นขาดตลาด จึงทำให้กระท่อมถูกเข้าใจว่าเป็นพืชเสพติดเช่นเดียวกันกับฝิ่น 

ใน พ.ศ. 2501 คณะปฏิวัติซึ่งปกครองประเทศไทยอยู่ในขณะนั้นได้พิจารณาเห็นว่า การเสพฝิ่นเป็นที่รังเกียจในวงการสังคม และเป็นอันตรายแก่สุขภาพและอนามัยอย่างร้ายแรง ประเทศต่าง ๆ ได้พยายามเลิกการเสพฝิ่นโดยเด็ดขาดแล้ว จึงเห็นเป็นการสมควรให้เลิกการเสพฝิ่น และ จำหน่ายฝิ่นในประเทศไทย จึงมีประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 37 ลงวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2501 ให้เลิกการเสพฝิ่น และจำหน่ายทั่วราชอาณาจักร และกำหนดดำเนินการให้เสร็จสิ้นเด็ดขาดภายในวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2502 แต่กระนั้นก็ตาม ก็ไม่ได้มีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับพืชกระท่อม เมื่อฝิ่นหายไปจากสังคมไทย และถูกทดแทนด้วยยาเสพติดชนิดอื่น กระท่อมก็หายไปจากสังคมไทยด้วย จนเมื่อปี 2547 ก็กลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้งจากการทดลองใช้น้ำต้มกระท่อมผสมกับยาแก้ไอที่มีส่วนผสมของโคเดอีน กลายเป็นเครื่องดื่มยอดนิยม และต่อมาก็มีการแพร่ขยายไปยังภูมิภาคอื่น ๆในประเทศ ประเทศเพื่อนบ้าน และทั่วโลกตามลำดับ 

จนถึงปัจจุบันนี้ การเสพกระท่อมเป็นยาเสพติดและการใช้พืชกระท่อมแบบวิถีชาวบ้าน เป็นสองพฤติกรรมการใช้ที่แตกต่างและแยกกลุ่มออกจากกันอย่างชัดเจน การเสพกระท่อมเป็นยาเสพติดต้องใช้ใบกระท่อมจำนวนมากนำมาต้มเพื่อให้ได้สารออกฤทธิ์ (mitragynine) จำนวนที่มากพอผสมกับสารออกฤทธิ์อื่นในกลุ่ม opioid (เช่น ฝิ่นหรืออนุพันธ์ของฝิ่น) โดยใช้เพื่อให้เกิดฤทธิ์กระตุ้นประสาท และ กดประสาท 

ในขณะที่ผู้ใช้กระท่อมแบบวิถีชาวบ้านนั้นใช้ในรูปแบบของการเคี้ยวใบสด หรือชงเป็นชาจากใบแห้ง มีวัตถุประสงค์ทางการบรรเทาอาการเป็นส่วนใหญ่ เพื่อรักษาอาการปวดเมื่อย ลดไข้  เมื่อพิจารณาจากวัตถุประสงค์และรูปแบบการใช้ที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน จึงคิดว่ากฎหมายเดิมที่ควบคุมการใช้พืชกระท่อมทุกรูปแบบทำให้ประโยชน์ของพืชกระท่อมถูกทำลายไป เช่น ประโยชน์ทางเภสัชวิทยาที่กระท่อมประกอบด้วยสารหลายประเภทที่อาจนำมาใช้ประโยชน์ได้ การแก้ไขกฎหมายฉบับล่าสุดนี้จึงเป็นประตูบานสำคัญที่จะทำให้กระท่อมถูกกลับมาใช้ประโยชน์ อย่างไรก็ตามประตูของการนำกระท่อมไปใช้ในทางที่ผิดก็ยังคงถูกปิดอยู่ เช่นนี้จึงเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงกฎหมายฉบับนี้อาจเป็นเรื่องที่ดีต่อวิถีชาวบ้าน และวงการแพทย์ไทยในอนาคต แต่ก็ต้องเฝ้าระวังการใช้ในทางที่ผิดต่อไปเหมือนเดิมครับ  


 

บทความที่เกี่ยวข้อง