ชุดโครงการสำรวจพฤติกรรมการใช้กัญชาและสารเสพติดในประชากรไทย ผลกระทบจากกัญชาต่อความเป็นธรรมทางสุขภาพ และต้นทุนการเจ็บป่วยจากการใช้กัญชา

เมื่อ : 2024-10-15 13:44:21 อ่านแล้ว: 7 ครั้ง
ชื่อไฟล์ที่สามารถดาวโหลดได้ (คลิกเพื่อดาวน์โหลด)
https://cads.in.th/cads/media/upload/1728972904-Fact%20%20Sheet.pdf

ชุดโครงการสำรวจพฤติกรรมการใช้กัญชาและสารเสพติดในประชากรไทย ผลกระทบจากกัญชาต่อความเป็นธรรมทางสุขภาพ และต้นทุนการเจ็บป่วยจากการใช้กัญชา

การนำพืชกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษประเภท 5 ในปี พ.ศ. 2565 โดยมีการอนุญาตให้ ปลูก จำหน่าย และทำให้เกิดการใช้กัญชาได้ในประเทศไทยนอกหนือจากการใช้ทางการแพทย์ จำเป็นต้องมีการประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องถึงจำนวนผู้ใช้และผลกระทบทางสุขภาพโดยเฉพาะต้นทุนทางสุขภาพที่เกิดการเจ็บป่วยจากการใช้กัญชาในประชากรไทย รวมไปถึงการสำรวจร้านค้าที่ดำเนินกิจการขายกัญชา และตัวผลิตภัณฑ์กัญชาที่วางจำหน่ายเพื่อบริโภคตามร้านค้าทั่วประเทศ การดำเนินการศึกษาครั้งนี้ทำในรูปแบบชุดโครงการ โดยส่วนหนึ่งใช้ข้อมูลจากศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) ที่จัดให้มีการสำรวจทัศนคติและพฤติกรรมการใช้สารเสพติดของประชากรไทยอายุ 18-65 ปี ในทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ พบว่า ความชุกของผู้ที่ใช้กัญชาเพื่อนันทนาการใน 12 เดือนที่ผ่านมามีแนวโน้มสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะในปี 2565 มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 24.9 โดยเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 487 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ขณะที่สัดส่วนของผู้ใช้กัญชาทางการแพทย์ แม้ว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังมีสัดส่วนเพียงแค่ร้อยละ 2.59 ในปี 2566 โดยมีสัดส่วนการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 109 และร้อยละ 122 ในปี 2565 และ 2566 ตามลำดับ ทั้งนี้ การวิเคราะห์ค่าประมาณต้นทุนรวมจากการเจ็บป่วยทั้งประเภทผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน รวมทั้งต้นทุนทางอ้อมจากค่าเสียโอกาสในการทำงานของผู้ป่วยด้วยโรคจิตเวชจากการใช้กัญชา (F12) โดยใช้ข้อสมมติให้สัดส่วนของผู้ป่วยด้วยโรคทางจิตเวชจากการใช้กัญชาอยู่ที่ร้อยละ 8 พบว่าต้นทุนทั้งหมดมีจำนวนไม่เกิน 2,000 ล้านบาทต่อปี ในปี 2562-2564 แต่กลับเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในปี 2565 และมีมูลค่าสูงถึง 10,222 ล้านบาท ในจำนวนนี้แบ่งเป็นต้นทุนการรักษาพยาบาลแบบผู้ป่วยใน ต้นทุนการรักษาพยาบาลแบบผู้ป่วยนอก และต้นทุนทางอ้อม6,736 ล้านบาท 749 ล้านบาท และ 2,736 ล้านบาท ตามลำดับนอกจากนี้ ผลการสำรวจด้านอุปทานโดยสำรวจเครื่องดื่มกัญชาซึ่งเป็นสินค้าที่เข้าถึงได้ง่ายโดยทำการตรวจสอบระดับสาร เดลต้า-9-เตตร้าไฮโดรแคนนาบินอล (delta-9-tetrahydrocannabinol) หรือ ∆9-THC พบว่า จากเครื่องดื่มทั้งหมด 207 ตัวอย่าง จากทั่วประเทศตรวจพบว่ามี ∆9-THCถึงร้อยละ 42.51 และ 6 ตัวอย่าง มี ∆9-THC เกิน 1.6 มิลลิกรัมต่อแก้ว ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภค และจากผลการศึกษาร้านค้าย่านถนนสีลม และถนนข้าวสาร พบว่าร้านค้าปลีกกัญชาตั้งอยู่ในพื้นที่การค้า ติดหรือใกล้ถนน มองเห็นได้ง่าย และใกล้กับสถานบันเทิง ร้านค้าแบ่งได้เป็น 4 รูปแบบ ได้แก่ ร้านขนาดใหญ่ ร้านขนาดกลาง ร้านที่ตั้งแยกตัวออกมา และร้านแบบแผงลอย ซึ่งขนาดของร้านจะส่งผลต่อแนวปฏิบัติในการจำหน่ายกัญชา  ราคา และคุณภาพของกัญชา โดยแนวปฏิบัติในการจำหน่ายกัญชาตามที่กฎหมายกำหนดในแต่ละร้านนั้นมีการดำเนินการ เพียงบางส่วน เท่านั้น เช่น ข้อกำหนดมาตรฐานด้านความปลอดภัย  การป้องกันผู้เยาว์มิให้เข้าถึงกัญชา ประเภทผลิตภัณฑ์กัญชาที่จัดจำหน่าย ประเภทของกิจกรรมส่งเสริมประชาสัมพันธ์  สภาพร้าน และที่ตั้ง สำหรับการประเมินผลกระทบด้านความเป็นธรรมทางสุขภาพต่อกลุ่มเปราะบางพบว่าได้รับผลกระทบเชิงลบมากกว่าเชิงบวก 

​กล่าวโดยสรุป การเปลี่ยนแปลงนโยบายในการทำให้เกิดการเข้าถึงการใช้กัญชาได้ง่ายของประเทศไทย ในปี 2565 ส่งผลให้ทั้งจำนวนผู้ใช้กัญชา จำนวนผู้ป่วย และต้นทุนของการเจ็บป่วยด้วยโรคทางจิตเวชเนื่องจากการใช้กัญชาเพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด แม้การศึกษาครั้งนี้จะไม่ได้คำนึงถึงต้นทุนจากการเจ็บป่วยจากการติดกัญชาที่ส่งผลต่อสุขภาพจิตในระยะยาว ซึ่งหากมีการเก็บข้อมูลแบบติดตามผู้ป่วยในระยะหนึ่ง ก็จะสามารถนำไปสู่การคำนวณต้นทุนการเจ็บป่วยที่มากขึ้นตรงกับความเป็นจริง นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์กัญชาที่ทำเพื่อการบริโภคส่วนหนึ่งมีค่าสารออกฤทธิ์ที่เกินกว่าที่ควร และร้านค้ามีการปฏิบัติตามแนวทางทางกฎหมายเพียงบางส่วนเท่านั้น จึงมีข้อเสนอให้ออกกฎกระทรวงในการนำพืชกัญชาเข้าอยู่ในการควบคุมตามกฎหมายยาเสพติด สอดคล้องกับผลจากการสำรวจทัศนคติของประชากรไทยพบว่าส่วนใหญ่เห็นด้วยกับแนวคิดการ “นำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด” โดยให้ใช้กัญชาได้เฉพาะทางการแพทย์เท่านั้น เพื่อลดผลกระทบและต้นทุนทางสุขภาพที่เกิดจากการใช้กัญชา โดยสามารถพัฒนามาตรการแนวทางจำกัดให้ใช้เฉพาะทางการแพทย์ได้ต่อไปโดยการทำโซนนิ่ง การจำกัดใบอนุญาต และมาตรการกำกับดูแลร้านจำหน่ายและมาตรการลงโทษตามกฎหมายต่อไป

 

-----------------------------------------------------------

ผู้วิจัย

รศ.พญ.รัศมน กัลยาศิริ (Assoc. Prof. RasmonKalayasiri, M.D.) 

ดร.สุริยัน บุญแท้ (Suriyan Boonthae, Ph.D.) 

รศ.ดร.เกื้อการุณย์ ครูส่ง (Assoc. Prof. Kuakarun Krusong, Ph.D.) 

รศ.ดร.ภัททา เกิดเรือง (Assoc. Prof. PhattaKirdruang, Ph.D.) 

ดร.ศยามล เจริญรัตน์ (SayamolCharoenratana, Ph.D.) 

 

 

---------------------------------------

สนับสนุนการดำเนินงานโดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)