เปรียบเทียบสถานะสารเสพติด (กัญชา) ที่ต่างกันสุดขั้วในเนเธอร์แลนด์และสิงค์โปร์...แล้วไทยควรเลือกทางไหน

เมื่อ : 2021-07-30 09:32:15 อ่านแล้ว: 20955 ครั้ง
ชื่อไฟล์ที่สามารถดาวโหลดได้ (คลิกเพื่อดาวน์โหลด)

เปรียบเทียบสถานะสารเสพติด (กัญชา) ที่ต่างกันสุดขั้วในเนเธอร์แลนด์และสิงคโปร์…….แล้วไทยควรเลือกทางไหน?

 

โดย ดร.นพ.มูฮัมมัดฟาห์มี ตาเละ

 

หากเราแบ่งประเทศในโลกนี้ตามระดับการพัฒนา ซึ่งจะใช้ตัวชี้วัดสำคัญ ๆ อย่าง คือ รายได้ต่อหัวประชากร อายุขัยเฉลี่ยประชากร คุณภาพการศึกษา และ สัดส่วนคนยากจนในประเทศ เราจะแบ่งประเทศต่าง ๆ ในโลกออกเป็น กลุ่ม คือ ประเทศด้อยพัฒนา ประเทศกำลังพัฒนา และ ประเทศพัฒนาแล้ว ประเทศส่วนใหญ่ในโลกอยู่ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา และ มีเพียง 31 ประเทศเท่านั้นที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ประเทศที่พัฒนาแล้วล้วนแล้วแต่มีแนวทางในการพัฒนาประเทศของตัวเอง อาจมีกระบวนการมหภาคที่คล้ายกัน เช่น ส่วนมากใช้ระบอบประชาธิปไตย ใช้ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเสรี แต่แนวทางการจัดการปัญหาในประเทศอื่น ๆ แต่ละประเทศก็มีวิธีการที่เหมาะสมกับบริบทของตนเอง และความสำเร็จของประเทศในโลกที่หนึ่งนั้นมักเป็นตัวอย่างในการดำเนินการพัฒนาประเทศของประเทศอื่น ๆ ในโลกด้วย

 

 

การจัดการปัญหาสารเสพติดและการดำเนินการนโยบาย เสรีกัญชา ของเนเธอร์แลนด์

แม้กระบวนทัศน์ในการพัฒนาประเทศในหลักการใหญ่ ๆ คล้ายคลึงกันหลายอย่าง แต่มุมมองหนึ่งที่เนเธอร์แลนด์และสิงคโปร์ แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง คือ มุมมองของ ”รัฐ” ต่อสารเสพติด ประเทศหนึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นสวรรค์ของคนสายเขียว อีกประเทศหนึ่งถือเป็นนรก ตอนผมไปดูงานในด้านสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายยาเสพติดที่เนเธอร์แลนด์ ก็พบว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้เนเธอร์แลนด์เปลี่ยนมาใช้นโยบายแบบ Legalization (ทำให้ถูกกฎหมาย) และ (Decrimin-alization) ต่อตัวยาเสพติด โดยเฉพาะกัญชา ก็เนื่องจากปัญหาด้านอาชญากรรมเป็นหลัก ในครั้งนั้นเมืองที่นำร่องในการแก้ปัญหานี้คืออัมสเตอร์ดัม อัมสเตอร์ดัมในช่วงปี 70s – 80s ถือเป็นเมืองที่มีอัตราอาชญากรรมสูงที่สุดเมืองหนึ่งในยุโรป ส่วนมากเป็นคดีชิงทรัพย์ ลักขโมย ทะเลาะวิวาท เมื่อสืบเสาะไปยังอาชญากรที่โดนจับกุมบ่อย ๆ ก็พบว่าปัจจัยหนึ่งที่อาชญากรมีร่วมกันคือ พฤติกรรมการใช้สารเสพติด

แนวคิดเรื่องการทำให้ยาเสพติดถูกกฎหมายและลดทอนโทษทางอาญาได้เกิดขึ้น ณ ช่วงเวลาที่ผู้รับผิดชอบปัญหาอาชญากรรมซ้ำซากในเมืองอัมสเตอร์ดัม ระดมความเห็นกันเพื่อแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างยั่งยืน หนึ่งในวิธีคิดเพื่อแก้ปัญหานี้คือ การแก้ปัญหาโดยยึดหลักมนุษยธรรมโดยพิจารณาคุณค่าในตัวปัจเจกผู้ที่ใช้สารเสพติด สองคือการแยกพิจารณาสารเสพติดรุนแรงและไม่รุนแรงออกจากกัน และหาทางป้องกันไม่ให้ใช้สารเสพติดรุนแรง

วิธีการที่ทำคือ การจับกุมผู้ใช้สารเสพติดที่มีประวัติอาชญากรรมทั้งเมือง มาพิจารณาวิธีการแก้ปัญหาที่เหมาะสมกันเป็นรายบุคคล โดยมีคณะกรรมการที่ร่วมออกแบบวิธีการแก้ปัญหารายบุคคลนี้ได้แก่ นักสังคมสงเคราะห์ ตำรวจ เจ้าหน้าที่การแพทย์ และตัวแทนจากเทศบาล ผู้ใช้สารเสพติดแต่ละคนจะถูกนำประวัติอาชญากรรม ประวัติการใช้สารเสพติดมาพิจารณา และมี ทางเลือกหลัก คือ

  1. พยายามเลิกใช้สาร (สำหรับกลุ่มที่ติดน้อย) 
     
  2. สำหรับผู้ใช้สารที่ไม่มีงานทำ ก็หางานให้ทำที่เหมาะสม โดยเทศบาลเป็นผู้จัดหางานให้ แต่ระหว่างรับงานก็อนุญาตให้ใช้สารเสพติดได้ และหวังว่าการทำงานจะลดปริมาณและความถี่ในการใช้ยาลงไปเรื่อย ๆ 
     
  3. จำคุกเนื่องจากประวัติอาชญากรรมมากเกินไป หรือ ไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมการใช้สารได้ 
     

ผลจากการทดลองแก้ปัญหาวิธีนี้ทำให้เทศบาลเมืองอัมสเตอร์ดัมลดปัญหาอาชญากรรมไปได้มาก ผู้ใช้สารเสพติดก็ลดปัญหาการใช้สารของตัวเองได้ดีขึ้น 

แนวทางแก้ไขปัญหาสารเสพติดของเนเธอร์แลนด์จึงเป็นต้นแบบของประเทศที่ยึดหลักสิทธิมนุษยชนในการแก้ปัญหาสารเสพติด มองผู้ใช้สารเป็นมนุษย์ แม้จะใช้สารเสพติดบ้าง แต่หากสามารถทำงานได้ปกติ ไม่ก่อกวนสังคมก็ควรอนุญาตให้ใช้ต่อไปได้ หลักคิดนี้ประกอบด้วย แนวทางหลัก คือ 

  • Decriminalization หรือการลดทอนโทษทางอาญา ซึ่งเชื่อว่า การศึกษาทางวิทยาศาสตร์ได้แสดงผลการใช้สารเสพติดที่ไม่รุนแรงว่าไม่ได้ส่งผลร้ายทั้งต่อตัวผู้ใช้และสังคมอย่างควบคุมไม่ได้ ดังนั้นผู้ที่ใช้สารเสพติดกลุ่มนี้จึงไม่ใช่อาชญากร  เราไม่ควรพิจารณาโทษของผู้ใช้สารเสพติดที่ไม่รุนแรง    ประหนึ่งเขาได้ทำอาชญา-
    กรรมร้ายแรง 

     
  • Legalization หรือการทำให้ถูกกฎหมาย ซึ่งเบื้องหลังของแนวคิดนี้มาจากความคิดที่ว่า เมื่อสารเสพติดชนิดไม่รุนแรงอันตรายทั้งต่อตัวผู้ใช้และสังคมไม่มากแล้ว ทำไมเราถึงต้องทำให้มันผิดกฎหมาย และ ผลักให้มันไปอยู่ในตลาดมืดทำให้รัฐบาลสูญเสียรายได้และควบคุมปัญหาได้ยาก การที่ทำให้ถูกกฎหมาย ก็เพื่อควบคุมตลาด ควบคุมผลกระทบที่จะตามมาจากการใช้ได้ เอาขึ้นจากที่ลับมาที่แจ้ง คงเป็นผลดีกว่า 
     

เมื่อทดลองใช้ในอัมสเตอร์ดัมได้ผล จึงขยายมาตรการดังกล่าวไปทั่วประเทศ สารเสพติดชนิดแรกที่รัฐบาลผ่อนปรนให้ใช้เพื่อความบันเทิงได้คือ กัญชา ถึงแม้ว่าในมุมมองของคนภายนอกมองว่าเนเธอร์แลนด์เปิดเสรีกัญชา แต่ในทางปฏิบัติแล้วไม่ได้เสรีแบบไร้ขอบเขต มีข้อกำหนดควบคุมอยู่ แต่เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในโลกแล้ว ถือว่ากฎหมายที่เนเธอร์แลนด์นั้นผ่อนปรนต่อกัญชามากกว่าที่อื่น ๆ ในโลก ข้อกำหนดที่รัฐใช้ควบคุมกัญชา เช่น การจำกัดสถานที่ มีการอนุญาตให้ประชาชนเข้าถึงกัญชาได้ในสถานที่ที่เรียกว่า coffee shop พื้นที่สูบที่ต้องสูบในร้านเท่านั้น การจำกัดอายุผู้ซื้อ การจำกัดปริมาณในการสูบ การกำหนดปริมาณสาร THC ซึ่งเป็นสารที่ทำให้มึนเมาต้องไม่เกิน 15% ในกัญชาที่ขายในร้าน มีการจัดโซนของเมืองที่เปิดร้าน coffee shop ได้ การไม่ขยายใบอนุญาตเพิ่มเติม เป็นต้น ถึงกระนั้นเนเธอร์แลนด์ยังคงกำหนดโทษสำหรับผู้ขายยาเสพติดประเภทรุนแรง (เฮโรอีน โคเคน เป็นต้น) ไว้สูงเหมือนเดิม 

ผลจากการปรับนโยบายเรื่องนี้ ทำให้เนเธอร์แลนด์ลดปัญหาอาชญากรรมไปได้มาก โดยเฉพาะคดีลักทรัพย์ และ ทะเลาะวิวาท คุกที่เคยขังผู้ต้องหาจนล้นคุก ตอนนี้กลายเป็นคุกร้าง ต้องนำเข้านักโทษจากต่างประเทศ ในทางกลับกันตัวเลขของผู้ใช้สารเสพติดประเภทรุนแรงลดลง ปัญหาจากการใช้สารเสพติดประเภทรุนแรงเช่น การติดเชื้อ HIV จากการใช้เข็มร่วมกันลดลง 15 เท่าในรอบ 10 ปีหลังสุด ประเทศสามารถจัดเก็บภาษีจากร้าน coffee shop ได้ปีละ 400 ล้านยูโร และแม้ตัวเลขของผู้ใช้กัญขาจะสูงถึง 15% ของประชากร แต่เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในยุโรปแล้วไม่ได้แตกต่างมากนัก รัฐบาลเองก็ไม่ได้หวังว่าจะมีคนใช้กัญชาน้อยลง แต่อนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อลดการใช้สารเสพติดรุนแรงอื่น ๆ และประสบความสำเร็จ ซึ่งจากสถิติดังกล่าวทำให้เนเธอร์แลนด์กลายเป็นตัวอย่างความสำเร็จของประเทศที่ดำเนินแนวทาง “เสรียาเสพติด” 


 

 

การจัดการปัญหาสารเสพติด (กัญชา) ของสิงคโปร์

ในทางตรงกันข้าม สิงคโปร์ก็เป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จจากการตั้งนโยบายที่เข้มงวดกับสารเสพติดสุด ๆ ปัจจุบันถือว่าเป็นประเทศที่มีโทษยาเสพติดรุนแรงที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ถ้าเทียบเรื่องโทษของการครอบครองกัญชา สิงคโปร์จะพิจารณาว่าผู้ครอบครองกัญชามากกว่า 15 กรัมเข้าประเทศ ว่าเป็นผู้ค้า และมีโทษปรับ 600,000 บาท หรือจำคุก 10 ปี และหากครอบครองกัญชามากกว่า 500 กรัม โทษจะรุนแรงถึงประหารชีวิต กฎหมายนี้ได้คร่าชีวิตของผู้เสพและผู้ค้ายาทั้งที่ถือสัญชาติสิงคโปร์และต่างสัญชาติหลายรายแล้ว ในปี 2018 ที่ผ่านมา ก็มีการประหารชีวิตนักค้ายาถึง ราย กรณีการประหารชีวิตคดียาเสพติดที่มีการกล่าวถึงกันมากเกิดในปี  2005 ศาลสิงคโปร์ได้สั่งประหารชีวิต Shanmugam "Sam" Murugesu อดีตทหารที่ทำงานในกองทัพสิงคโปร์มานานถึง ปี โดยไม่เคยทำผิดวินัยหรือก่ออาชญากรรม ด้วยข้อหาที่ว่าครอบครองกัญชา กิโลกรัม 

ซึ่งกรณีดังกล่าวหากเกิดขึ้นในเนเธอร์แลนด์ เขาคนนั้นคงมีชีวิตอยู่ต่อได้สบาย ๆ และ สามารถหาหนทางทำเงินอย่างถูกกฎหมายจากการครอบครองกัญชาในปริมาณดังกล่าวได้อีกด้วย นี่คือความแตกต่างที่ชัดเจนของสถานะกัญชาในประเทศที่ปลอดภัยที่สุดทั้งสองประเทศในโลก

แนวคิดสำคัญที่ทำให้สิงคโปร์เลือกใช้นโยบายเข้มงวดที่สุดกับสารเสพติดเพราะปูมหลังทางประวัติศาสตร์ของสิงคโปร์นั้นเจ็บปวดมามากกับปัญหาสารเสพติด เราทราบกันดีว่าสิงคโปร์เป็นเกาะขนาดเล็ก มีคนจีนเป็นชาติพันธุ์หลักในประเทศ เคยเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษตั้งแต่ปี  1819 ซึ่งเป็นช่วงเวลาใกล้เคียงกันที่อังกฤษเริ่มส่งฝิ่นเข้าไปขายในจีนเพื่อแก้ปัญหาขาดดุลการค้ากับจีน อังกฤษได้นำฝิ่นซึ่งผลิตจากอินเดีย หนึ่งในอาณานิคมของอังกฤษไปยังอาณานิคมอื่น ๆ ที่อังกฤษปกครองด้วย ในช่วง ศตวรรษที่ 19 การเสพฝิ่นในสิงคโปร์จึงเป็นเรื่องปกติ และทำกำไรอย่างงามให้กับเจ้าอาณานิคมอย่างอังกฤษและพ่อค้าฝิ่นในสิงคโปร์ เนื่องจากสิงคโปร์เป็นเมืองท่าสำคัญของการขนส่งสินค้าไปมาระหว่างอินเดียกับจีน 

ในช่วงปี  1840s เป็นช่วงที่จีนกำลังพบกับวิกฤตฝิ่นอย่างหนัก นอกจากจะเสียดุลการค้ากับอังกฤษเพราะฝิ่นแล้ว ชาวจีนนับล้านคนก็ติดฝิ่นไม่สามารถทำงานทำการได้ ช่วงเวลาเดียวกันนั้นแรงงานชาวจีนจำนวนมากก็เริ่มอพยพมาทำงานที่สิงคโปร์ แรงงานชาวจีนกลุ่มนี้ถูกเรียกว่า “กุลี” การปลูกฝังให้กุลีใช้ฝิ่นเป็นกระบวนที่นายจ้างใช้ควบคุมแรงงาน และ เป็นการป้องกันเงินรั่วไหลออกของนายจ้างด้วย กาลเวลาผ่านไป กุลี ที่เข้ามาในช่วงวัยหนุ่มและใช้ฝิ่นมาตลอดก็เปลี่ยนจากแรงงานกลายเป็นคนติดฝิ่นที่หมดสภาพ ภาพที่คุ้นตาในสิงคโปร์สมัยนั้นคือมีชาวจีนติดฝิ่นจำนวนมากอยู่ในเมือง 

ช่วงเปลี่ยนผ่านที่สำคัญที่สุดของการสร้างรัฐที่ประกาศสงครามกับยาเสพติดอย่างรุนแรงคือหลังจากการได้รับเอกราชจากมาเลเซียในปี 1965 รัฐบุรุษผู้ก่อตั้งสิงคโปร์อย่าง ลี กวน ยิว คือผู้ที่ใช้ชีวิตในวัยเด็กในบ้านเมืองที่พบเห็นปัญหาของผู้คนติดฝิ่นรอวันตายอย่างทรมาน นอกจากนั้นบทเรียนจากการเสียชาติของจีนจากสงครามฝิ่นกับอังกฤษถึง ครั้ง เป็นเครื่องเตือนใจชั้นดีของ ลี กวน ยิว ในการวางรากฐานด้านนโยบายยาเสพติดให้กับประเทศ ในปี 1971 ลี กวน ยิว ประกาศสงครามกับยาเสพติดเต็มรูปแบบโดยเริ่มจากการตั้งหน่วยงานดูแลปัญหายาเสพติด บัญญัติกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดใหม่ เพิ่มโทษให้รุนแรงกว่าเดิมมาก และกำหนดโทษประหารชีวิตสำหรับผู้ผลิตและผู้ค้า ลงทุนด้านการบำบัดรักษาผู้ติดสารจนลดจำนวนผู้ติดสารเสพติดอย่างมากในระยะเวลาสั้น ๆ การพัฒนาทางนโยบายด้านสารเสพติดของสิงคโปร์ในยุคต่อมาก็ไม่มีท่าทีจะผ่อนปรนกฎหมายให้เข้มงวดน้อยลงเลยแม้แต่น้อย มีแต่การปรับเปลี่ยนให้ครอบคลุมโทษไปยังสารเสพติดชนิดใหม่ ๆ มากขึ้น แม้ยุคสมัยใหม่จะมีการค้นพบข้อมูลใหม่ ๆ ด้านเภสัชวิทยาที่ทำให้มนุษย์สามารถเลือกใช้ประโยชน์พร้อมกับลดผลข้างเคียงที่ไม่ดีของสารเสพติดได้ แต่เมื่อได้ชื่อว่าเป็นสารเสพติดแล้ว สิงคโปร์ไม่เคยผ่อนปรนแม้แต่น้อย 

ปัจจุบันสิงคโปร์มีผู้ใช้สารเสพติดผิดกฎหมายอยู่ที่ 0.05% ของประชากร ซึ่งถือว่าน้อยที่สุดแห่งหนึ่งในโลก โดยเฉพาะเทียบกับไทยที่ 2.5% หรือ เนเธอร์แลนด์ 15% และสิงคโปร์ตั้งเป้าว่าจะลดจำนวนผู้ใช้สารเสพติดให้เหลือ 0% สิงคโปร์มีกฎหมายอาญาที่กำหนดบทลงโทษของผู้เสพและผู้ขายยาเสพติดรุนแรงมาก การครอบครองยาเสพติดปริมาณเล็กน้อยมีโทษจำคุกสูงสุดถึง 10 ปี และโทษประหารในกรณีที่เป็นผู้ค้าก็มีการสั่งใช้อยู่ตลอดมา ความสำเร็จของสิงคโปร์วัดได้จากดัชนีทางอาชญากรรมหลายอย่างที่บอกว่าที่นี่คือประเทศที่ปลอดภัยจากอาชญากรรมที่สุดในโลก เป็นประเทศที่มีอันตรายจากสารเสพติดน้อยที่สุดในโลก เป็นประเทศที่มีอัตราผู้ใช้สารเสพติดน้อยที่สุดในโลก จากการจัดอันดับ Global Peace Index ในปี 2018 โดย Institute for Economics and Peace ปรากฏว่าสิงคโปร์ถูกจัดเป็นประเทศที่ปลอดภัยที่สุดอันดับที่ ในขณะที่ เนเธอร์แลนด์ถูกจัดอยู่ในลำดับที่ 23 และ แน่นอนว่าดัชนีความเจริญที่ปรากฏในตารางที่ บอกได้ว่าสิงคโปร์ไม่ใช่ประเทศล้าหลังใครเลยในโลกนี้

แม้ในปัจจุบันประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศเริ่มปลดล็อคกัญชาให้ใช้ในทางการแพทย์ หรือ เปิดให้ประชาชนได้เสพเพื่อผ่อนคลาย มีผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์มากมายที่พิสูจน์ว่ากระบวนการทางเภสัชวิทยาสามารถลดผลข้างเคียงที่ไม่ดีของสารเสพติดและเลือกเอาผลที่ดีของสารมาใช้ เพื่อให้ประโยชน์กับมนุษย์ แต่สิ่งที่ผู้ดูแลทางนโยบายด้านสารเสพติดได้ยืนยันคือ สิงคโปร์ไม่สนใจในแนวทางดังกล่าว และ ยืนยันที่จะใช้มาตรการเข้มงวดต่อสารเสพติดต่อไป

ปรัชญาสำคัญที่ทำให้การดำเนินนโยบายสารเสพติดแบบสิงคโปร์ประสบความสำเร็จคือ ความเชื่อมั่นในความเชื่อพื้นฐานว่าจะไม่เปิดพื้นที่ให้สารเสพติดผิดกฎหมายเลยแม้แต่น้อย และสิ่งที่รัฐทำในทุกวันคือลดพื้นที่ของสารเสพติดผิดกฎหมายในประเทศให้ลดลงเรื่อย ๆ การเป็นรัฐที่โปร่งใส ไม่มีปัญหาคอรัปชั่นทำให้การดำเนินนโยบายปราบปรามยาเสพติดประสบความสำเร็จ นอกจากนั้นประเทศที่เป็นเกาะเล็ก ๆ รัฐสามารถควบคุมทางเข้าออกอย่างเป็นทางการ ทั้ง ด่านทางบก ด่านทางน้ำ ด่านทางอากาศ และ ช่องทางธรรมชาติ ได้อย่างเบ็ดเสร็จ ทำให้ควบคุมปัญหาการนำเข้ายาเสพติดได้แทบจะสัมบูรณ์ 

************************************************************************************************************************

 

ปัจจัยที่ทำให้แต่ละประเทศเลือกนโยบายที่แตกต่างกันคงเป็นเพราะภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ และ บริบททางสังคมในปัจจุบัน ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับสารเสพติดนั้นเปิดกว้างให้นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกเข้าถึง แต่ท้ายที่สุดแล้วกระบวนการตัดสินใจเลือกใช้นโยบายแบบไหน ก็ขึ้นอยู่กับการตกลงภายในประเทศ และข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ค้นพบในเรื่องสารเสพติดนั้นก็ล้วนถูกใช้เป็นหลักฐานสนับสนุนนโยบายทั้งสองแบบที่ต่างกันสุดขั้วทั้งสิ้น

ปัจจุบันประเทศไทยอนุญาตให้ใช้กัญชาทางการแพทย์ได้ และอนุญาตให้ใช้บางส่วนของกัญชาได้โดยทั่วไปหากมาจากแหล่งผลิตที่ได้รับอนุญาต ซึ่งนโยบายสารเสพติดต่อไปโดยเฉพาะกัญชาเป็นประเด็นที่พูดกันมากในช่วงนี้ โดยจะใช้แบบไหน เป็นเรื่องที่ต้องศึกษาอย่างละเอียด และ เน้นย้ำทุกครั้งว่าต้องศึกษาเชิงบริบท เปรียบเทียบระหว่างบริบทของประเทศตัวอย่าง และ เปรียบเทียบกับบริบทของประเทศเราเอง ไม่มีใครตัดสินใจเรื่องของตัวเองได้ดีเท่าคนใน แต่คนในจะตัดสินใจได้ดีก็เมื่อเห็นโลกภายนอกมาก ๆ ข้อมูลจากประเทศอื่น ๆ ในโลกจะช่วยเราตัดสินใจเรื่องของเราได้เฉียบคมขึ้น